กระทรวงพลังงานควักเงินกองทุนฯ อุ้มดีเซล 50% ของราคาที่จะปรับขึ้น ไม่ให้ราคาขายปลีกทะลุ 30 บาทต่อลิตร กลับลำให้ประกาศราคาได้เหมือนเดิม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงพลังงานเตรียมนำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบวิกฤตราคาน้ำมันผันผวนอย่างรวดเร็วต่อผู้บริโภค ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเห็นชอบนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีเงินคงเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นเครื่องมือแบ่งเบาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 50% ของราคาที่ควรจะเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกไม่ให้เกินกว่า 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเงินกองทุนจะเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ประมาณ 10 เดือน
“นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กระทรวงพลังงานจึงจะนำเงินกองทุนมาแบ่งเบาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล โดยราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นไป 1 บาท จะนำเงินกองทุนช่วยลดภาระการขึ้นราคา 50 สตางค์ และให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลได้ 50 สตางค์ อีกทั้งยังผ่อนผันให้ผู้ค้ามาตรา 7 สามารถประกาศราคาขายปลีกน้ำมันที่มีการปรับเปลี่ยนล่วงหน้าให้สังคมรับทราบตามเดิมด้วย”
ทั้งนี้ หาก กบง.เห็นชอบจะสามารถดำเนินการได้ทันที ในระหว่างที่ยังไม่มีจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ หรือ B20 ในสถานีบริการช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ ตามนโยบายช่วยดูดซับปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษที่มีส่วนผสม ไบโอดีเซลเพิ่มจาก 7% สำหรับดีเซลเกรดทั่วไป (B7) เป็น 20% (B20) เพื่อใช้ในกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจูงใจด้วยราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันดีเซลเกรดปกติ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันของกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ อยู่ในระดับต่ำประมาณ 27 บาท/ลิตร ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการกลุ่มรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต้องปรับขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะหรือค่าขนส่งไม่ว่ากรณีใด
สำหรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่ขณะนี้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนก๊าซหุงต้มบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้นนั้น ประเมินว่าไม่น่าส่งผลกระทบยาวนาน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของซีกโลกเหนือแล้ว ทำให้ความต้องการใช้แอลพีจีมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซหุงต้มน่าจะลดลงตามไปด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 563.6 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 114 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากต้นเดือนเม.ย.อยู่ที่ประมาณ 449 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มขยับขึ้นตลอดหลายที่ผ่านมา
*สำหรับราคาน้ำมันในตลาดโลก ณ วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 93.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซล 3.30 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 32.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิงในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 52 สตางค์ ส่งผลให้ภาพรวมต้นทุนราคาตน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.82 บาทต่อลิตร
นายศิริ กล่าวยอมรับว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบดูไบ มีราคาเพิ่มขึ้น 15.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก 61.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2561 เป็น 77.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 19 พ.ค.2561 ส่งผลให้ราคาดีเซลอยู่ที่ 93.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซล 3.30 บาทต่อลิตร ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจากระดับ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 32.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาดีเซลอ้างอิงในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 52 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้นภาพรวมต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.82 บาทต่อลิตร
แต่อย่างไรก็ตาม จากการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น และการลดจำนวนเงินจัดเก็บเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.15 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2561 ส่งผลให้ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศ เพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ควรเป็น 0.62 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้นสุทธิจริงเท่ากับ 3.20 บาท/ลิตร เป็น 29.79 บาท/ลิตร
(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ)
+ อ่านเพิ่มเติม