เจออีก! 'วิระชัย' พร้อม 'อย.' บุกค้นโรงงานผลิต 'แกลโล' พบมีส่วนผสมสารไซบูทรามีน
logo ข่าวอัพเดท

เจออีก! 'วิระชัย' พร้อม 'อย.' บุกค้นโรงงานผลิต 'แกลโล' พบมีส่วนผสมสารไซบูทรามีน

ข่าวอัพเดท : ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ อย. สนธิกำลังตรวจค้นบริษัทจัดจำหน่ายอาหารเสริมยี่ห้อ แกลโล ที่พบมีส่วนผสมสารไซบูทรามีน พบของกลางกว่า 700 แพ็ค วิระชัยทรงเมตตา,โรงงานผลิตแกลโล,อาหารเสริมยี่ห้อแกลโล

2,385 ครั้ง
|
21 พ.ค. 2561
ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ อย. สนธิกำลังตรวจค้นบริษัทจัดจำหน่ายอาหารเสริมยี่ห้อ แกลโล ที่พบมีส่วนผสมสารไซบูทรามีน พบของกลางกว่า 700 แพ็ค ขณะที่ผู้ดูแลรับว่า มีสินค้าจัดส่งผ่านบริษัทมากถึงสัปดาห์ละ 3,000 กล่อง
 
พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 เขตบางพลัด ที่ตั้งบริษัท แกลโล ริช อินเตอร์ จำกัด จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อแกลโล ที่ตรวจพบมีการใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารอันตราย ตามที่ อย.ประกาศ โดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นบริษัทนี้ เป็นการขยายผลการเข้าตรวจค้นบริษัทสยามเฮลท์แอนท์บิ้วตี้แคร์ จำกัด ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอาหารเสริมยี่ห้อแกลโล และข้างกล่องระบุว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดจำหน่ายมีการจดทะเบียนในนามนิติบุคคลว่าเป็นสถานที่จัดจำหน่ายอาหารเสริม และเป็นสถานที่เก็บสต็อกสินค้า โดยมีนายเจนสรรค์ เตชะสุริยะนันท์ เป็นคณะกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยี่ห้อแกลโล จำนวน 700 กล่อง มูลค่าประมาณ 1,365,000 บาท ส่วนขั้นตอนต่อไปจะนำผลิตภัณฑ์ที่พบ ส่งให้อย.นำไปตรวจพิสูจน์ ก่อนพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่มีเพจของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อแกลโล ชี้แจงว่าสินค้าที่ตำรวจเข้าตรวจยึด เป็นสินค้าปลอมหรือสินค้าเลียนแบบนั้น เชื่อว่าเป็นหนึ่งในแผนการต่อสู้คดี ซึ่งตำรวจสามารถพิสูจน์ชี้แจงข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
 
ขณะที่เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร อย. ระบุว่า นอกจากผลิตภัณฑ์พบมีสารไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมแล้ว ทางอย. ยังพบสาร 2 ชนิดที่อยู่ในอาหารเสริมยี่ห้อนี้ด้วย คือ สารฟลูออกซิทีน ที่รักษาโรคซึมเศร้าทำให้ไม่อยากอาหาร และ สารออริสแตท ยาดักจับไขมันขับถ่ายในรูปแบบไขมัน ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาที่ใช้รักษาทางการแพทย์ ไม่อนุญาตให้ใส่เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมใดๆ โดยหลังจากนี้จะต้องตรวจสอบว่ามีการนำยามาจากที่ใด เนื่องจากอย.ให้บางโรงงานที่ได้รับอนุญาตใช้เท่านั้น 
 
ขณะที่การตรวจสอบพบว่าก่อนหน้านี้เจ้าของผลิตภัณฑ์นี้ได้มีการขออนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์ถูกต้อง แต่จากการสุ่มตรวจสอบเมื่อปี 2017 พบว่า มีการผสมสารดังกล่าวไปด้วย ซึ่งถือเป็นการทำผิดกฎหมาย และยังตรวจพบว่าฉลากบนผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีคำแนะนำ และคำเตือนในการกินอาหารเสริมชนิดดังกล่าว พร้อมยังฝากเตือนถึงประชาชนว่า ทางอย.ไม่เคยมีการรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วผอมใน 3-7 วัน รวมถึงไม่เคยอนุญาตให้อาหารเสริมชนิดใดใช้คำว่าสลิมในการโฆษณา จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวัง และตั้งข้อสังเกตอาหารเสริมที่ซื้อมาบริโภคไม่ควรมีผลข้างเคียง เช่น อาการใจสั่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการเข้าตรวจค้นในจุดแรกตำรวจยังพบสถานที่เก็บสินค้าอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 2 คูหา และจากการซักถาม นายมงคล ศรุตวราพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัททำให้ทราบว่า เมื่อ 3 ปี ที่แล้วมีคนมาส่งของให้ที่นี่เรื่อยๆโดยส่งให้สัปดาห์ละ 3,000 กล่องเล็ก ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ตนเองไม่ทราบว่าต้องทำอะไรต่อเพราะมีหน้าที่เพียงดูแลเพียงเท่านั้น
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง