รัฐบาลเปิดเพจ 'ประเทศไทยเดินหน้าทันโลก' เพิ่มช่องทาง ประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล ภารกิจด้านต่างประเทศ ที่รูปแบบนำเสนอเข้าใจง่าย ชวนคนรุ่นใหม่ติดตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานทำเนียบรัฐบาลว่าทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้มีการเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ “ประเทศไทยเดินหน้าทันโลก” หรือชื่อย่อ “ไทยทันโลก” หรือ “ไทยทัน” เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ภารกิจของรัฐบาลในด้านต่างประเทศ โดยได้มีการเริ่มเผยแพร่คลิปวีดีโอการ์ตูนแอนิเมชั่น อินโฟกราฟฟิกเพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของไทย ซึ่งได้รับจากการสร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศ
ทั้งนี้ ทางผู้ดูแลเพจได้โพสต์ข้อความว่าได้เปิดเพจอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม โดยขอให้เรียกกันให้ติดปากว่าว่า “ไทยทัน” โดยเป็นเพจกึ่ง Documentary ที่จะเล่าสถานการณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกแบบง่ายๆ ถ้าใครเห็นแตกต่าง อยากแย้ง แบ่งปันข้อมูลก็เชิญได้ ขอแค่งดคำไม่สุภาพ และมีมารยาทเท่านั้น
สำหรับการทำเพจดังกล่าว ถือเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพจ เฟซบุ๊กชื่อ “ไทยคู่ฟ้า” และ “สายตรงไทยนิยม” ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 3 โครงการประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลของ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น ราว 12 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการจ้างทำไลน์ ออฟฟิเชียล แอคเคานท์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารรัฐบาลเชิงรุกซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณ 7.3 ล้านบาท
2.โครงการประชาสัมพันธ์ “ประเทศไทยเดินหน้าทันโลก”เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก วงเงินงบประมาณ 8 แสนบาท
3.โครงการจ้างทำวารสาร“ไทยคู่ฟ้า”พิมพ์ 4 สี 40 หน้า ซึ่งสำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของโครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4 ล้านบาท
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าในการจัดทำเพจใหม่นี้ เป็นการเปิดช่องทางประชาสัมพันธ์ภารกิจของรัฐบาลในด้านการต่างประเทศ โดยมีรูปแบบในการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ชวนให้คนรุ่นใหม่มาติดตามงานของรัฐบาลในด้านนี้ด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังคงเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชนประชาคมโลก และจะยังคงกระชับความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเดินทางไปมาหาสู่ในทุกระดับ และเพื่อให้ประชาชนชาวไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง อนุภูมิภาคและภูมิภาคนี้ ได้รับประโยชน์ร่วมกันตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ว่า“เราจะเข้มแข็งไปด้วยกัน (Stronger Together)” รวมถึงถือเป็นการสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงประเด็นที่อาจดูเหมือนไกลตัว แต่ที่จริง ทุกคนล้วนอยู่ในห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
+ อ่านเพิ่มเติม