เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ค. บริเวณหน้าร้านศรีปุตรีข้างมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี รองผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งพิพากษาลงโทษ 10 ผู้ต้องหาคดีระเบิดเมืองปัตตานี ประกอบด้วย ประหารชีวิต 6 ราย จำคุกตลอดชีวิต 3 ราย และจำคุก 39 ปี 12 เดือน 1 รายโดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะซัน หรือฮากิบ สาและ กับพวกรวม 10 คนในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิตทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน จากคดีเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม หน้าตลาดโต้รุ่ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 59, ระเบิดร้าน JP เฟอร์นิเจอร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 59, ระเบิดเรือประมง 2 ลำ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.59, ระเบิดหน้าร้านศรีปุตรีข้างมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.59 และขยายผลตรวจยึดอาวุธปืนพกและอุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ รวม 6 คดี โดยทั้งหมดเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีในห้วงเดือน มิถุนายน – ธันวาคม 2559
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 10 คน ดังนี้
ประหารชีวิต 6 คน ประกอบด้วย นายอิบรอเฮง ยูโซ๊ะ, นายอัมรีย์ ลือเย๊าะ, นายสันติ จันทรกุล นายอายุบ เปาะลี, นายอิสมาแอ ตุยง และนายนิรอนิง นิเดร์
จำคุกตลอดชีวิต 3 คน ประกอบด้วย นายมะซัน สาและ, นายอับดุลเลาะ หะยีอูมาร์ และนายรูสรัน แวหะยี ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 คน ให้การที่เป็นประโยชน์แก่การพิพากษาคดี ศาลจึงลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต
และจำคุก 39 ปี 12 เดือน 1 คน คือ นายฮามิด เจะมะ
โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวอีกว่า กลุ่มที่ก่อเหตุสร้างสถานการณ์จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเสียชีวิตนั้น ผู้กระทำย่อมต้องได้รับผลกรรมที่ตามมา และจากพฤติกรรมที่ปรากฏของจำเลยทั้ง 10 คน ที่ได้ร่วมกันก่อเหตุถึง 6 คดี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยในห้วงที่ผ่านมาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้สูญเสียดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ที่กระทำความผิด ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับการดูแลจากกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังของการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงแต่อย่างใด โดยทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น จึงขอให้ช่วยกันดูแลบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด สำหรับผลคำพิพากษาตัดสินคดีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งได้พิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานแวดล้อม ที่ทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยทั้ง 10 คน ได้ร่วมกันกระทำความผิดจริง จึงมีคำสั่งพิพากษาลงโทษดังกล่าว อย่างไรก็ตามจำเลยทั้ง 10 คนยังมีสิทธิในการยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้
+ อ่านเพิ่มเติม