รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่อำเภอหัวหิน เพื่อวางมาตรการในการดูแลและสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว พร้อมเผยฉลามที่กัดนักท่องเที่ยวเป็นฉลามวัยอ่อนอายุไม่ถึงไม่ถึง 1 ปี เตรียมติดตั้งทุ่นตาข่ายป้องกันฉลามเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และปิดหาดทรายน้อยห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำอย่างน้อย 20 วัน เพื่อรอการติดตั้งทุ่นตาข่าย พร้อมจัดส่งทีมนักวิจัยและนักวิชาการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล
(คลิปข่าวจากรายการ วันที่ 18 เมษายน 2561)
ความคืบหน้าเหตุนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ ถูกฉลามกัดขณะลงเล่นน้ำ บริเวณหาดทรายน้อย บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยวันนี้ (18 เมษายน 2561) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายบรรณารักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี, นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่วัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งเป็นจุดที่พระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่ฉลามอย่างน้อย 4 ตัว ว่ายวนไปมาบริเวณใกล้โขดหินเขาเต่า โดยพร้อมกันนี้ได้แถลงข่าวสรุปข้อมูลเหตุฉลามกัดนักท่องเที่ยวพร้อมวางมาตราการป้องกันเหตุเกิดซ้ำ
นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า นักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ถูกฉลามทำร้าย โดยระบุว่าเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งพฤติกรรมการหากินอยู่ตามชายฝั่ง และจากการตรวจสอบดดร่องรอยบาดแผล ลักษณะของแนวฟันที่เท้า พบว่าเป็นลูกฉลามอายุไม่เกิน 1 ปี ความยาวประมาณ 1 เมตร จากบาดแผลเป็นการกัดเพราะอาการตกใจ เพราะไม่มีการฉีกขาดเช่นการกัดเพื่อล่าเหยี่อ โดยหลังจากนี้จะมีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานวางแนวทางป้องกัน ได้จะมีการจัดเรือ และเตรียมโดรน มาบินสำรวจสภาพพื้นที่ และพูดคุยเพื่อหาข้อมูล
สำหรับทะเลที่เป็นจุดเกิดเหตุเป็นเขตอนุรักษ์ ไม่มีเรือประมงเข้ามาทำการประมง เพราะเป็นเขตพระราชฐานและเขตอภัยทานของวัด จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล มีลักษณะของห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งฉลามก็ถือเป็นสัตว์ที่อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหาร คือเป็นสัตว์ผู้ล่าปลาขนาดเล็กในทะเล ซึ่งก็เป็นลักษณะปกติของทะเลไทย บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของทะเล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการแจ้งเตือนไปยังโรงแรมต่างๆให้ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังในการเล่นน้ำทะเล เช่น ไม่เล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำขุ่น น้ำลึก ไม่แต่งกายด้วยสีฉูดฉาดลงเล่นน้ำทะเล เป็นต้น นอกจากนี้จะมีมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ด้านนายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การพบเห็นฉลามบริเวณนี้ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลที่มีสัตว์น้ำวัยอ่อนอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบข้อมูลฉลามหัวบาตรจะออกหากินในช่วงที่อุณหภูมิน้ำเย็นลงหรือประมาณ 16.00 น.เป็นต้นไป ลักษณะการเข้าจู่โจมนักท่องเที่ยว ไม่ใช่พฤติกรรมการล่าหรือการทำร้าย อาจเป็นเพราะฉลามตกใจนักท่องเที่ยว หรือคิดว่าขานักท่องเที่ยวเป็นอาหารจึงเข้างับเพื่อทดสอบเหยื่อ อีกทั้งลักษณะบาดแผลก็มีความชัดเจน เป็นการกัดแล้วปล่อย ไม่ใช่กัดแล้วสะบัดเหยื่อ เพื่อล่าเป็นอาหาร ทั้งนี้ยอมรับว่าบาดแผลของนักท่องเที่ยวเกิดจากฉลามกัด และยืนยันชัดเจนว่าท้องทะเลบริเวณนี้ก็มีฉลามจริง แต่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ต้องวิตกกังวล เพราะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันวางแนวทางบริหารจัดการในการอยู่ร่วมกัน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้ และสัตว์ทะเลก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้วางแผนนำทุ่นตาข่ายเนื้ออวนป้องกันฉลาม มาติดตั้งปิดหน้าอ่าวหาดทรายน้อย ความยาวประมาณ 300 เมตร ซึ่งทุ่นตาข่ายนี้มีใช้กันในต่างประเทศ เป็นแบบเดียวกันกับประเทศออสเตรเลีย
สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมามีการติดตั้งทุ่นตาข่ายเพื่อป้องกันแมงกะพรุนกล่องเท่านั้น แต่ที่หัวหินจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งทุ่นตายข่ายเพื่อป้องกันฉลาม ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการติดตั้งทุ่นตาข่ายนี้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ และจะต้องปิดการท่องเที่ยวหาดทรายน้อยไปก่อนอย่างน้อย 20 วัน โดยห้ามเล่นน้ำทะเลโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะมีการขยายผลไปติดตั้งทุ่นตาข่ายไปยังจุดอื่นๆของหาดหัวหิน เพื่อให้หัวหินเป็นชายหาดที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเทียบเท่าต่างประเทศ นอกจากนี้จะจัดส่งทีมนักวิจัย นักวิชาการลงพื้นที่สำรวจหาข้อมูลกันอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์
แต่ทั้งนี้นักท่องเที่ยวไม่ต้องวิตกกังวลว่าฉลามหัวบาตรจะเคลื่อนย้ายไปหากินพื้นที่อื่นหรือหาดอื่น เนื่องจากหาดหัวหินในจุดอื่นมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น และมีการท่องเที่ยวเช่นเรือเจ็ตสกี หรือเรือประมงซึ่งจะรบกวนการดำรงชีวิตของฉลาม
+ อ่านเพิ่มเติม