เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลังกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ประมวลกฎหมายว่าด้วยเรื่องภาษีอากรฉบับหนึ่ง) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขในครั้งนี้มีบทบัญญัติส่วนหนึ่ง ที่กำหนดให้สถาบันการเงิน, สถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องรายงาน "ข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมในลักษณะพิเศษ" สองประเภทในปีที่ผ่านมาให้กรมสรรพากรรับทราบ ได้แก่
1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันปีละตั้งแต่ 3,000 ครั้ง
2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันปีละตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
โดยอธิบดีมีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลที่ได้มาตามมาตรานี้ไว้และให้เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ไม่เกิน 10 สิบปีนับแต่วันที่ได้รับข้อมูล นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางปกครองสำหรับกรณีผู้มีหน้าที่นำส่งข้อมูลดังกล่าวที่ไม่ดำเนินการตามที่กำหนด จะมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตจากสังคมออนไลน์ว่าเป็นการรวบรวมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้เข้าสู่ระบบภาษี เนื่องจากที่ผ่านมา การจำหน่ายสินค้าและบริหารผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย มักจะมีการโอนเงินค่าสินค้าผ่านบัญชีธนาคาร หรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากร้านค้าออนไลน์ค้าขายดีและมีรายได้เข้าเป็นจำนวนมาก เมื่อส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กรมสรรพากรก็อาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็นบัญชีเพื่อการค้าหรือไม่ เพราะมีธุรกรรมที่ผิดปกติมากกว่าบัญชีทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบและเก็บภาษีได้
อนึ่ง ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ที่ขายสินค้า หรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีกิจการขนาดย่อม ต้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกเว้นบางกิจการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
+ อ่านเพิ่มเติม