ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าแจ้งความเอาผิด 5 ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชี 22 บัญชีที่ได้รับโอนเงินจากกองทุน
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนิติกรผู้ได้รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตจำนวน 88 ล้านบาท โดยครอบคลุมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 5 คน และบุคคลอื่น 22 คน ในบัญชีที่ถูกนำมาใช้ในการโอนเงิน
พันตำรวจโทรบำเพ็ญ ไวยรจนา ร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ระบุว่า เมื่อรับแจ้งความแล้วยังต้องรอรวบรวมข้อมูลหลักฐานก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิด ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นข้อหาการยักยอกเงินหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นข้าราชการที่กระทำผิดจะมีข้อหาการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือประพฤติมิชอบตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องส่งเรื่องต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาโทษ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะส่งไปยังที่ใด
โดยขณะนี้ นอกจากการแจ้งความต่อผู้กระทำผิดโดยกระทรวงศึกษาธิการแล้ว นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังให้สถาบันการศึกษาที่พบการทุจริตเข้าแจ้งความในข้อหาถูกยักยอกเงินคู่ขนานไปด้วย
สำหรับการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เกิดขึ้นจากการตรวจสอบภายในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2561 มีหลักฐานการโอนเงินกองทุนไปยังชื่อบัญชีของบุคคลอื่น 22 บัญชี ไม่ใช่บัญชีของสถานศึกษาที่ต้องได้รับเงิน จำนวน 88 ล้านบาท และพบมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 5 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 1 คนให้การรับสารภาพว่าทำจริง และทำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ขณะที่อีก 4 คนอยู่ระหว่างการสอบสวน
ด้านพันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการพบการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตว่า ได้มอบหมายให้กองปราบปรามทุจริตในภาครัฐ 2 เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการและประสานข้อมูลจากหน่วยงาน โดยเฉพาะตัวเลขงบประมาณและหลักฐานในการเบิกจ่ายทั้งหมด เพื่อดูว่ามีการรั่วไหลในจุดใดและบุคคลใดที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากอยู่ในอำนาจป.ป.ท. จะเสนอให้คณะกรรมการป.ป.ท.ไต่สวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอน เช่นเดียวกับการตรวจสอบเงินคนจนที่ผ่านมา โดยวางกรอบเบื้องต้นให้คณะทำงานรายงานผลสรุปภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน แต่ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความยากง่ายในแต่ละเรื่อง
กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตก่อตั้งในปี 2537 ใช้งบประเดิมจากสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 600 ล้านบาท ต่อมามีการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและเงินบริจาคสบทบเข้ามาหมุนเวียน วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น กำพร้า ยากจน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร หรือถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณี หรือที่เรียกกันว่าเด็กตกเขียว สนับสนุนการศึกษาให้เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นและม.ปลายหรือเทียบเท่าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้เรียนต่อ เริ่มต้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และขยายให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านพยาบาล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล
+ อ่านเพิ่มเติม