ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ ซึ่งกระทรวงแรงงานยกร่างขึ้นมาและอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสมาคมประมง และสภาองค์การนายจ้างฯ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นดังต่อไปนี้
มาตรา 34 ที่เปิดช่องให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงานได้ เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 24 ช.ม.
มาตรา 58 นายจ้างซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ทำงานในประเทศไทยเกิน 1 ปีขึ้นไป มีสิทธิจัดตั้งสมาคมนายจ้างได้
มาตรา 89 ลูกจ้างซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทย 10 คนขึ้นไป ทำงานในประเทศไทยเกิน 1 ปีขึ้นไป มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
ดังนั้นหากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คนต่างด้าวจะสามารถจัดตั้งได้ทั้งสมาคมนายจ้างและสหภาพแรงงานได้ และจะมีกี่สหภาพต่อหนึ่งองค์กรก็ได้
นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่า มาตราที่เป็นปัญหานี้อ้างอิงมาจากสนธิสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ประเทศในอาเซียนและประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ , ญี่ปุ่น , จีน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ไม่มีประเทศใดเขียนกฎหมายลักษณะนี้ เพราะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ เนื่องจากทุกวันนี้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้เสียภาษีให้ประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน หากอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมนายจ้างได้เป็นกลุ่มองค์กร รัฐบาลจะควบคุมได้หรือไม่
นางเนาวรัตน์กล่าวต่อว่า การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่จำกัดจำนวนจะกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทหรือโรงงาน เพราะทุกวันนี้สภาพแรงงานมีแต่คนไทยก็ยังมีปัญหา พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วถ้าใน 1 บริษัทมีสหภาพของแรงงานแต่ละชาติ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนจะรับไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหวก็ต้องปิดบริษัท แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศของตัวเองคน ที่เดือดร้อนจริงๆ คือแรงงานไทย ซึ่งไปไหนไม่ได้ ซึ่งทางสภาองค์การนายจ้างฯ ได้นำเสนอปัญหาเหล่านี้ให้ รมว.แรงงาน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว อยากให้ช่วยกันพิจารณาให้ดีว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ช่วยส่งเสริมการลงทุน หรือจะดึงให้นักลงทุนย้ายออกนอกประเทศ หลังจากนี้คงต้องรอดูว่า จะมีการปรับแก้ก่อนเข้า ครม.หรือไม่
ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า ในร่างกฎหมายเขียนเรื่องนี้เอาไว้จริง แต่ยังเป็นแค่ต้นร่าง เพื่อนำมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลมาครบทุกมิติแล้ว ก็จะนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้สมบูรณ์แล้วเสนอขอความเห็นของจาก ครม. ก่อนส่งให้ สนช. ออกเป็นกฎหมายต่อไป
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ที่มีเนื้อหาอนุญาตให้ตั้งแรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้ โดย 1 โรงงานจะมีกี่สหภาพก็ได้ ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเป็นเรื่องของกระทรวงแรงงาน จะต้องสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่มองว่าจะเป็นปัญหาให้แรงงานต่างด้าวมีอำนาจต่อรองได้นั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะมีระเบียบและสัญญาจ้างควบคุมไว้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันปฏิเสธความเห็นที่มีการวิเคราะห์ว่าการให้ตั้งสหภาพแรงงานเพื่อให้ไทยผ่านการประเมินเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู)
+ อ่านเพิ่มเติม