คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม "ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง" ถึงเป็นเป้าแห่งการล่า?
logo ข่าวอัพเดท

คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม "ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง" ถึงเป็นเป้าแห่งการล่า?

ข่าวอัพเดท : เรื่องราวของ นายเปรมชัย กรรณสูต และคณะรวม 4 คน ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหามากถึง 9 ข้อหา จากการเข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ เปรมชัย กรรณสูต,ล่าสัตว์,ทุ่งใหญ่,ห้วยขาแข้ง,มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร,ป่า

31,229 ครั้ง
|
07 ก.พ. 2561
เรื่องราวของ “นายเปรมชัย กรรณสูต” และคณะรวม 4 คน ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหามากถึง 9 ข้อหา จากการเข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพบซากสัตว์ป่าซึ่งถูกล่า อาทิ ไก่ฟ้าหลังเทาและเสือดำ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม ทั้งในแง่ความเป็นผู้มีชื่อเสียง และการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเกิดขึ้น
 

ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(หนังสือ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงการล่าสัตว์ของจนท.รัฐ ชนวนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516)

 

ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(สืบ นาคะเสถียร)

อย่างไรก็ตาม ผืนป่าที่ตกเป็นข่าว นับเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ กับการเป็นพื้นที่จุดชนวนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตลอดจนเป็นผืนป่าซึ่งเมื่อ 27 ปีที่แล้ว นายสืบ นาคะเสถียร ต้องยอมลั่นไกปืนเพื่อแลกชีวิตของตนกับการทำให้สังคมหันมาตื่นตัวด้านการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า 
 
หนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือ แล้วป่าผืนนี้สำคัญอย่างไร ทำไมจึงตกเป็นเป้าของการล่าสัตว์มาโดยตลอด?
 
วันนี้ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์พูดคุยกับ นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงความเป็น “ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” ซึ่งเป็นแหล่งที่แทบจะพูดได้ว่า มีสัตว์ป่าอย่างอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
 
นายภาณุเดชอธิบายกับเราว่า จุดที่คณะของซีอีโอชื่อดังถูกกล่าวหาว่าเข้าไปล่าสัตว์นั้น โดยปกติเป็นจุดที่ผ่านได้แต่ตั้งแคมป์ไม่ได้ เพราะจุดที่ตั้งแคมป์ได้จะอยู่ที่ในพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่า กลุ่มของผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปไม่ถึงจุดนั้น แต่กลับแวะระหว่างทางแล้วฉีกเข้าไปในเส้นทางที่ตกเป็นข่าว 

“ปกติพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งจะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปมากเท่ากับส่วนของอุทยานแห่งชาติ เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่พื้นที่หลักสำหรับการให้ท่องเที่ยว แต่สามารถเปิดให้เข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติ เช่น การดูนก หรือดูสัตว์ป่า ระบบนิเวศในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อาจจะเป็นห่วงเพราะผู้ที่เข้าไปอาจถูกสัตว์ป่ารบกวน เช่น พังเต๊นท์ หรือทำอันตราย”
 
แล้วเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งแห่งนี้สำคัญอย่างไร?
 
นายภาณุเดชบอกว่าความสำคัญของ “ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” มีหลายมิติ มิติแรกคือเรื่องระบบนิเวศซึ่งเป็นระบบนิเวศระดับสูงมาก เพราะเป็นชุมทางของสิ่งมีชีวิตที่มารวมกันในจุดเดียว 
 
“เปรียบเสมือนเป็นสี่แยกที่สัตว์ป่าทั้งจากด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก มันมาอยู่รวมกันได้ในบริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูงมากที่สุดในประเทศไทย” เขาระบุ
 

ประการต่อมาคือ สภาพภูมิประเทศที่มีป่าดิบ ซึ่งถือเป็นบ้านให้สัตว์ป่าเข้าไปอยู่อาศัยและหลบภัย เป็นป่าทึบ แล้วก็มีทั้งป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณและทุ่งหญ้า ทำให้มีแหล่งอาหารของสัตว์ในการเดินออกจากป่าดิบที่เป็นบ้านมากินอาหาร แล้วย้อนกลับไปพักในป่าดิบได้อย่างปลอดภัย จึงเป็นระบบนิเวศป่าไม้ที่เอื้อให้สัตว์ป่าอยู่ได้ ขณะที่ป่าในภาคใต้เป็นป่าดิบชื้นที่มีฝนตกตลอดและมีต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนมาก ทำให้หาพืชอาหารได้ยากกว่า

ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(ภาณุเดช เกิดมะลิ - เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร)
 
เขาเล่าว่า “การเป็นแหล่งรวมของสัตว์ป่าทำให้ความหลากหลายของสัตว์ป่ามีคุณค่า มีความสำคัญ คุณสืบ นาคะเสถียรก็เห็นความสำคัญแล้วพยายามผลักดันให้เป็นมรดกโลกขึ้นมา เมื่อคุณสืบยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อให้คนรู้จักกับป่าผืนนี้ ก็ทำให้สังคมไทยรู้จักกับทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งมาตั้งแต่คุณสืบเสีย ทำให้สังคมมีความรู้สึกร่วมในการปกป้องป่าผืนนี้” 
 
ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(ลำห้วยบี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก)
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวต่อว่า มิติต่อมาคือการเป็นพื้นที่แม่พันธุ์ของสัตว์ป่า เราจะได้ยินว่าเสือจากห้วยขาแข้งเดินขึ้นไปถูกยิงตายที่ลำปาง หรือการพบเสือที่เมียนมาซึ่งตรวจสอบแล้วมาจากห้วยขาแข้ง ดังนั้นจึงเป็นแหล่งแม่พันธุ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีสัตว์มากขึ้น สัตว์จึงเริ่มกระจายไปยังทิศต่างๆ โดยรอบ ซึ่งต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีการรบกวนจากมนุษย์ มีพราน มีนักท่องเที่ยว มีการพัฒนาในพื้นที่ สัตว์ใหญ่ก็จะไม่ค่อยอยู่เพราะไม่ปลอดภัย ที่ผ่านมาทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งมีระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ได้และเพิ่มประชากรมากขึ้น
 
เมื่อป่าอื่นอาจเหลือแต่ป่าและสัตว์ป่าที่ไม่ค่อยหลากหลาย ดังนั้นเขตทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งจึงตกเป็นเป้าหมายเข้าไปล่าสัตว์เพื่อหาสัตว์ใหญ่ 
 
“เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นที่หมายปองของกลุ่มพรานที่เป็นทั้งพรานบรรดาศักดิ์ และพรานที่ต้องการล่าเพื่อเอาไปขายต่างชาติ เพราะปัจจุบันมูลค่าของสัตว์บางชนิดก็มีมูลค่าสูง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าไปกระทำผิดในพื้นที่ ส่วนพรานบรรดาศักดิ์นั้นเป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการที่จะล่าสัตว์ที่พื้นที่อื่นไม่มี” นายภาณุเดชกล่าว
 

เขายังเล่าว่า พื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ที่มีควายป่าเหลืออยู่ฝูงสุดท้ายในประเทศไทย ซึ่งจุดที่ควายป่าอยู่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีการดูแลอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังมีความพยายามเข้าไปล่าทั้งทางเรือและเดินเท้าเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ เสือโคร่งก็ยังเป็นสัตว์กลุ่มที่เหลือน้อยเช่นกัน

ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(ควายป่า)
 
“ในประเทศไทยเหลือจำนวนประชากรเสือโคร่งแค่ 150-200 ตัว ส่วนหนึ่งก็อาศัยอยู่ในป่าห้วยขาแข้ง และอีกส่วนหนึ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาก็คือกระทิงที่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเสือโคร่งจะกินสัตว์ใหญ่เป็นหลักตั้งแต่กวางขึ้นไปเพื่อให้กินได้ยาวนาน ดังนั้นกระทิง กวาง วัวแดง จึงเป็นอาหารหลักของเขา เขาก็จะอยู่ด้วยกัน ถ้าเจอกระทิง เจอกวางใหญ่ๆ เจอวัวแดง โอกาสที่จะเจอเสือโคร่งมีสูงมาก ขณะที่พื้นที่อื่นสัตว์ใหญ่แบบนี้เหลือน้อยมาก ทำให้สัตว์ผู้ล่าขาดหายไปด้วย เหมือนอย่างที่เขาใหญ่เป็นอยู่ก็เกิดจากเหตุการณ์นี้ ก็คือสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่จะกินกระทิง กินช้างมันไม่มี ระบบนิเวศมันเลยเสียสมดุล” เขาระบุ
 
ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง)
เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรยังขยายความต่อไปว่า บริเวณที่ตกเป็นข่าวว่ามีคณะของซีอีโอชื่อดังถูกกล่าวหาว่าเข้าไปล่าสัตว์นั้น แม้ไม่ได้อยู่ในจุดที่มีควายป่าซึ่งเป็นสัตว์หายาก แต่ก็ถือเป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความชุกชุมของสัตว์ป่าสูงมาก ซึ่งเขาเชื่อว่าคณะที่เข้าไปน่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่ หรือต้องมีคนที่รู้ข้อมูลในพื้นที่ รู้สภาพพื้นที่ รู้ว่าบริเวณใดมีสัตว์ป่าชุกชุมเป็นผู้นำพาเข้าไป จึงเชื่อได้ว่ามีการเตรียมการล่วงหน้า 
 
“ส่วนพรานอีกกลุ่มที่มักลักลอบล่าสัตว์เพื่อนำไปขายก็จะมีเป้าหมายที่สัตว์บางชนิดซึ่งมีมูลค่า และมักปรากฎเป็นข่าวให้เห็นบ่อยๆ ในการดักจับได้ตามด่านศุลกากร รวมถึงมีการปะทะกันในพื้นที่ทุ่งใหญ่อยู่หลายครั้งเหมือนกัน โดยเฉพาะเป็นกลุ่มพรานที่มาจากต่างประเทศ”
 
เขายังย้ำว่าจริงๆ แล้วพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งมีมาตรการในการลาดตระเวนและคัดกรองคนที่จะเข้าไปในพื้นที่อย่างเข้มข้นมาก ดังนั้นเรื่องนี้จึงทำให้ควรต้องกลับมาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น
 
“ผมเองยังไม่เชื่อเลยว่าสังคมไทยยังมีคนกลุ่มแบบนี้อยู่ (หัวเราะ) พอดีเพิ่งออกมาจากป่ามาเหมือนกัน แล้วพอได้ข่าวนี้ก็อึ้งเลยเหมือนกัน ก็คิดว่ามันไม่น่าจะมีอยู่แล้วในประเทศไทย เพราะผมว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องงานอนุรักษ์ หรือการอนุรักษ์ป่าไม้-สัตว์ป่าบ้านเราสูงมาก แต่มันยังมีคนแบบนี้อยู่ ซึ่งก็คงต้องทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่” ภาณุเดชกล่าว
 
ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(ภาพเสือดำที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อเดือนมีนาคม 2560)
เขาเล่าต่อไปว่าการถูกล่าของเสือหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ นั้นก็เพราะมีการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งทางยาหรือตามความเชื่อ หรืออาจจะถูกนำไปแสดงอำนาจและบารมีของตน โดยเสือโคร่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
 
“เสือดำ เสือดาว เสือโคร่ง สถานะแทบจะไม่ต่างกันมาก คือมีจำนวนน้อยน่าเป็นห่วงทั้งหมด แม้เสือดำ เสือดาวจะมีมากกว่าเล็กน้อย แต่ก็ไม่ห่างกันมาก”
 
ท้ายสุด นายภาณุเดชสรุปย้ำถึงความสำคัญของงานอนุรักษ์ ทั้งในแง่ของการรักษาระบบนิเวศและในแง่ของจิตใจของคนไว้อย่างน่าสนใจ
 
“ระบบนิเวศของไทยในเรื่องสัตว์ป่าและพรรณไม้ ถือเป็นระบบนิเวศที่ไม่ด้อยไปกว่าพื้นที่อย่างป่าอเมซอน หรือป่าแถบอินโดนีเซีย หรือป่าแอฟริกาที่มีสัตว์ป่าชุกชุม เราไม่แพ้เขาเลยนะครับ เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมาเรารู้สึกว่ามันเยอะจนกระทั่งเราไม่รู้สึกว่ามันจะหมดไป แต่ว่าวันหนึ่งเรากำลังจะสูญเสียพวกนี้ไป เสร็จแล้วมันก็จะกลับมากระเทือนกับเรา เช่นในเรื่องของภัยพิบัติต่างๆ”
 

“เสือที่เขาล่ากัน หรือสัตว์ป่าที่เขาล่ากัน เอาง่ายๆเลย มันคือยอดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติในป่า การที่คุณล่าเสือมันจะมีผลกับระบบนิเวศที่เป็นสัตว์ที่อยู่ด้านล่าง มันจะกระเทือนถึงกันหมด ผมยกตัวอย่าง เอาตรงๆเลยอย่างเขาอ่างฤๅไนย หรือกลุ่มป่าตะวันออกที่เราเห็นช้างออกมารบกวนมนุษย์เยอะมาก หรือห้วยทางป่าเขาใหญ่ซึ่งมีกระทิงออกมาเยอะมากแล้วมารบกวนพื้นที่ของมนุษย์"

ข่าวอัพเดท : คุยกับคนอนุรักษ์ ทำไม ทุ่งใหญ่-ห้วย
(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก)
 
"ก็ต้องกลับไปถามว่าทำไมสัตว์พวกนี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นแล้วออกมารบกวนมนุษย์ ก็เพราะว่าไม่มีคนที่ควบคุมสมดุลในธรรมชาติก็คือเสือโคร่ง หรือว่าสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่จะคอยควบคุมให้มันอยู่ในความพอดีและอยู่ในป่าได้อย่างปกติ มันก็เป็นระบบที่ดูแลซึ่งกันและกัน ก็เหมือนเรากับธรรมชาติ พอเราไปรังแกเขามากๆ ธรรมชาติก็คืนผลกลับมา”
 
“คนไทยมีการพัฒนาความรู้และการศึกษาแล้วน่ะนะครับ จิตใจที่มีต่อเรื่องของงานอนุรักษ์จึงถือเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง ที่เวลาเราไปมองสิ่งมีชีวิตที่เป็นเพื่อนร่วมโลกอื่นๆ แล้วก็ให้คุณค่าของเขาในการดูแล ในการปกป้องรักษามันเอาไว้เนี่ย ผมคิดว่ามันเป็นการยกระดับของคนในสังคมไทยให้เห็นว่า...เราก็เจริญทางด้านจิตใจแล้ว” เขาสรุป
 

(ขอบคุณภาพ : มติชน, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร)