จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “จุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 10” ในหัวข้อ “ปัญหาหรือตัณหา : ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียนไทย” โดยเป็นเวทีอภิปรายทางวิชาการถึงประเด็นความสัมพันธ์อันเป็นปัญหาระหว่างครูกับศิษย์ในโรงเรียน ที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการศึกษาเรื่องความรุนแรงและสิทธิเด็กในโรงเรียน ระบุว่า โรงเรียนคือสังคมจำลอง ดังนั้นภาพของความสัมพันธ์ระหว่างครู ศิษย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น บางครั้งพื้นที่ข่าวก็เงียบหายไปเพราะมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจกว่า หรือการสอบสวนที่เป็นแบบข้าราชการสอบกันเอง
เรื่องความสัมพันธ์ทางเพศในโรงเรียนมีหลายระดับ เช่น นักเรียนชายแซวครูผู้หญิง หรือนักเรียนกลุ่ม LGBT ที่ถูกกระทำจากนักเรียนกลุ่มอื่น หรือการนัดพบกันในมุมลับ หรือบนพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ออนไลน์ระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์กัน มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าเด็กนักเรียนชายหนึ่งในหก และเด็กหญิงหนึ่งในสี่ล้วนผ่านการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน โดยเฉพาะเด็กผู้ชายจะมีแนวโน้มที่จะเงียบเสียงมากกว่าด้วยความคาดหวังของสังคมที่คาดหวังว่าผู้ชายจะไม่เสียหาย
ขณะที่พื้นที่สื่อก็นำเสนอภาพของแม่ของเด็กผู้เสียหายชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การลงโทษจากสังคมซ้ำ คือการซุบซิบนินทา ทำให้ผู้เสียหายเริ่มเงียบเสียง และอาจเกิดการช่วยเหลือกันระหว่างผู้อำนวยการและครู ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและเงียบหายไป เพื่อรอเหตุปะทุซ้ำอีกครั้ง นำไปสู่การตั้งคำถามว่าโรงเรียนยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่
ดังนั้น เรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับการสอบสวนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนค่านิยมให้ผู้ใหญ่และเด็กเป็นเพื่อนที่เคารพกัน และการทำให้เสียงของเด็ก ซึ่งเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในโรงเรียนได้รับการรับฟัง และทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่รับฟังเด็กมากขึ้น เพื่อทำให้เสียงของเด็กไม่เงียบ และจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้เด็กรู้จักสิทธิเหนือร่างกายของตนเอง การอยู่ร่วมกับเพื่อนและผู้ใหญ่ รวมถึงทักษะชีวิตด้านการต่อรองและส่งเสียงเมื่อเกิดปัญหา นอกจากนี้จะต้องตั้งคำถามว่า จะป้องกันเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เช่น เด็กกลุ่มเสี่ยง เปราะบาง เด็กที่มีความต้องการพิเศษ จะมีกลไกให้เขารับมืออย่างไร หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดูแลเด็กอย่างไร ส่วนครูเองต้องมองบทบาทตัวเองให้ไกลกว่าวิชาที่ตัวเองสอน เพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิด หรือแก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ครูต้องรู้ว่าจะปกป้องเด็กอย่างไร หรือรู้ว่าจะทำงานอย่างไรกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนมีหน้าที่ถักทอตาข่ายทางสังคมให้เกิดการแก้ปัญหา เช่น การหากลุ่มเพื่อนที่รับฟัง การมีครูแนะแนวหรือผู้เชี่ยวชาญ และการมีเครือข่ายผู้ปกครองที่จะช่วยกันดูแลปัญหาเหล่านี้ สุดท้าย ครูต้องคิดว่าตนเองเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ต้องทำให้คนเห็นสิทธิของตน วิธีการเจรจาต่อรองและปฏิเสธ
ขณะเดียวกันก็ต้องมีการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในโรงเรียน ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางเพศ เช่น ให้ชายเคารพหญิง ให้หญิงรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ ไม่ทำให้เด็กกลายเป็นวัตถุทางเพศ และเรื่องนี้ก็จะขยายไปถึงการทำสื่อ ซึ่งภาพที่นำเสนอผ่านสื่อ ผ่านละคร ผ่านโฆษณา สังคมก็จะต้องมีการตอบสนองเมื่อมีประเด็นเปราะบางด้วย
นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าว ระบุถึงการนำเสนอข่าวของสื่อว่า โจทย์ใหญ่ของสื่อคือการเจอกับสถานการณ์รายวันที่มีเรื่องมากมาย จะรับมืออย่างไรกับเรื่องที่ต้องเจาะลึก อธิบายให้รอบด้าน รวมถึงการอธิบายให้ไม่ลำเอียง ซึ่งเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศในโรงเรียนเหล่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย กรณีที่เกิดขึ้นเกิดจากการหลุดออกมาของแชตไลน์ แม้ว่าในการนำเสนอข่าวจะมีการเบลอหน้าผู้เสียหาย แต่ก็ต้องระวังเพราะพัฒนาการของเรื่องไปไกลมาก จนนำไปสู่การเจาะถึงพฤติกรรมของเด็กหญิง และอาจจะละเลยเรื่องอำนาจไป เพราะผู้อำนวยการเป็นผู้ชาย เป็นผู้บริหารโรงเรียน คุณวุฒิ ฐานะต่างๆ ย่อมมีอำนาจเหนือเด็กหญิง ซึ่งเป็นแค่เด็กสาวที่มีความน่ารักความเอ็นดู เด็กแทบไม่มีอำนาจต่อรองเมื่อมีผู้ใหญ่เข้ามาทำความสนิทสนม ดังนั้นการนำเสนอของสื่อต้องระวังความละเอียดอ่อน จะนำเสนออย่างไรเพื่อไม่ให้ผลิตซ้ำทัศนคติเดิมๆ ว่าเด็กผู้หญิงอาจจะให้ท่ากับฝ่ายชาย ต้องคำนึงว่าผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือเด็กในทุกกรณี
นางสาวณัฏฐายังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีสถานบริการวิกตอเรีย ซีเคร็ท ซึ่งสื่อมักนำเสนอเน้นไปที่ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ ซึ่งการนำเสนอที่ขาดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็เหมือนสื่อผลิตซ้ำ ข่มขืนซ้ำ กระทำความรุนแรงต่อผู้ตกเป็นเหยื่อซ้ำ หากสื่อมีเวลาทำงานมากขึ้น ก็อาจทำให้เห็นความจริงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนได้ ดังนั้นต้องกลับมาที่ผู้ผลิตสื่อ ที่พอจะเป็นไปได้คือการปรับทัศนคติของสื่อทุกคนทุกหน้าที่ในกระบวนการผลิต ถ้ากองบรรณาธิการเห็นความสำคัญของการผลิตข่าวที่ไม่ผลิตซ้ำ ไม่ลำเอียง ไม่พวกมากลากไป หรือไม่ยึดเรตติ้งเป็นหลัก ก็อาจทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามว่าเราจะทำแบบเดิมจริงหรือ แล้วเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอได้อย่างไร เราจะมีส่วนเปิดองค์ความรู้ใหม่ๆ นำไปสู่การเคารพบุคคลในข่าว การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร
ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุถึงแง่มุมทางกฎหมายว่า เรื่องนี้เป็นตัณหาของมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เป็นปัญหาทางกฎหมายและปัญหาที่นำกฎหมายไปใช้บังคับไม่ได้ โดยฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในโรงเรียนก็เช่น ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดฐานกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร การพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร กฎหมายมีความรุนแรงแต่ละระดับต่างกันไป ซึ่งเมื่อทำกับเด็กอายุไม่เกิน 13 หรือ 15 ปี โทษก็จะหนักขึ้น นอกจากนี้กฎหมายไทยยังคุ้มครองการกระทำชำเราต่อผู้สืบสันดาน ผู้อยู่ในอนุบาล และศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ซึ่งต้องรับโทษเพิ่ม 1 ใน 3 และเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมีพร้อม แต่การดำเนินคดีกลับยากมาก เพราะผู้เสียหายอาย หรือกังวลกับการมองของสังคม การปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ ความยากตรงนี้ไม่ใช่แค่กรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหาย แต่รวมถึงผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย นอกจากนี้การพิสูจน์ความผิดก็ยาก เพราะเรื่องเกิดในที่รโหฐาน หาพยานหลักฐานยาก กระบวนการที่เกิดขึ้นก็ยาก เช่น การหาทนายต่างๆ นอกจากนี้ยังพบกับศาลที่น่ากลัวที่สุดคือศาลสังคมออนไลน์ เพราะเมื่อนำเสนอไป เขาก็ถูกเปิดเผยตัวเองและถูกข่มขืนซ้ำโดยสังคม สื่ออาจจะต้องช่วยกันปรับทัศนคติทางสังคม รวมถึงภาพของละครที่นำเสนอการข่มขืนก็มีผลต่อความเชื่อของสังคมด้วย
ผศ.ดร.ปารีณายังระบุว่า อีกประการหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดกันคือการปกป้องผู้เสียหายระหว่างการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเห็นใจ ทำอย่างไรเราถึงมีแนวปฏิบัติชัดเจน เช่น เจ้าหน้าที่จะสอบสวนอย่างไร หรือโรงพยาบาลจะตรวจอย่างไรไม่ให้ต้องสอบสวนหรือตรวจซ้ำๆ จนกลายเป็นการทำให้รู้สึกเหมือนถูกข่มขืนซ้ำ แม้ตามกระบวนการทางกฎหมายจะดีเพราะระบุให้มีการสอบสวนโดยสหวิชาชีพ แต่บุคลากรที่พร้อมมีมากเพียงใด มีระยะเวลาให้เขาได้ลงไปทำงานตั้งแต่คดีเริ่มต้นมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้การทำให้เกิดดุลยภาพในการรายงานข่าวของสื่อกับความคุ้มครองเหยื่อ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงไม่มีมาตรการลงโทษสื่อที่ละเมิดแนวปฏิบัติด้วย
นอกจากนี้ยังต้องตั้งคำถามไปถึงการฟื้นฟูเยียวยาว่าจะเป็นอย่างไร เหยื่อจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร หากเขาอายและไม่กล้ากลับมาจะส่งต่อไปยังสถานศึกษาแห่งอื่นได้หรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศ ยังมีระบบขึ้นทะเบียนผู้กระทำความผิดทางเพศทำให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในโรงเรียนได้ ซึ่งช่วยป้องกันปัญหาได้อีกทางหนึ่งด้วย
ปิดท้ายที่นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ที่ระบุว่า เมื่อได้ยินเรื่องนี้ก็จะพบว่าปัญหาเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าแล้วก็เงียบไป สะท้อนว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยแน่นอน โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับศิษย์ที่อาจทำให้เรางง หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศได้, การขาดนโยบายชัดเจนจากกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการปัญหา ขาดแนวปฏิบัติเรื่องการร้องเรียนที่ชัดเจน ซึ่งหากมีเรื่องก็ต้องไปหาสื่อ หรือมูลนิธิที่จะมีสัมพันธ์กับสื่อ ตลอดจนการขาดความรู้ ความเข้าใจของทั้งนักเรียนและครูในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ
ทั้งนี้ ตนมองว่าการทำโรงเรียนให้ปลอดภัย ไม่มีความรุนแรง จะต้องทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องในระบบโรงเรียนให้ได้ จะต้องให้โรงเรียนมีความฉลาดรู้ทางเพศ ซึ่งไม่ใช่แค่ป้องกันปัญหา แต่ทำให้เด็กมีชีวิตทางเพศที่มีความสุขด้วย โดยต้องมีการศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียน และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่จะเอื้อต่อการไม่ล้อกันในโรงเรียน และเป็นโรงเรียนที่คุ้มครองดูแลในเรื่องเพศ ตัวอย่างเช่น มีการตั้งกล่องรับความเห็นและคำถามที่อยากรู้ให้เด็กมาฝากความเห็นหรือคำถามเอาไว้ นอกจากนี้ ควรจะมีครูที่จะรับฟังเด็ก ไม่ตัดสิน เป็นที่พึ่งเป็นเพื่อนกับเด็กได้ และโรงเรียนต้องดึงเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาช่วยด้วย ส่วนกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน
นางสาวจิตติมายังระบุว่า สังคมต้องไม่ยอมรับต่อความรุนแรงทางเพศ และกระทรวงศึกษาธิการต้องมีความกล้าหาญทางนโยบายที่จะปล่อยมือจากการสั่งการ แล้วให้อำนาจกับโรงเรียนหรือหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการได้เองโดยมีกระทรวงเป็นผู้สนับสนุน รวมถึงต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้สุขภาวะทางเพศในโรงเรียน ได้แก่ การสร้างความเท่าทัน เท่าทันตัวเอง เท่าทันสังคมว่าแม้ตนจะมีสิทธิแต่งกายอย่างไรก็ได้ แต่เราอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพเนื้อตัวกัน จะทำอย่างไร และเท่าทันความสัมพันธ์ว่าอะไรคือการเอาเปรียบ และมีทักษะในการขอความช่วยเหลือสำหรับเด็ก ทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้เป็นจริง
นางสาวจิตติมาสรุปว่า ปราการที่สำคัญที่สุดที่ขัดขวางการแก้ปัญหาคือทัศนคติที่ตัดสินผู้ที่ประสบปัญหา เพราะจะทำให้เด็กเลือกที่จะปิดปากเงียบ ซึ่งพ่อแม่ควรสื่อสารกับลูกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก พ่อแม่จะอยู่กับลูกเสมอ
(ภาพจาก Facebook : Chulalongkorn University)
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/bIDNouqwGe4