นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม. หลังจากเมื่อวานนี้ สามารถตรวจพบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้เกินมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
โดยช่วง 5 วันที่ผ่านมาตรวจวัดได้ 50-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรแต่มีความรุนแรงมากที่สุดเมื่อวานนี้ ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้จากบรรยากาศจะเป็นสีเทาน้ำตาล ไม่มีแสงแดด แสดงให้เห็นว่ามีฝุ่นละอองปะปนอยู่ในอากาศ แต่โชคดีที่เมื่อวานนี้มีฝนตกลงมาช่วยชะล้างฝุ่นละอองในอากาศออกไปได้ และล่าสุดวันนี้มีแสงแดดทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเป็นการช่วยให้อากาศลอยขึ้นมีอากาศใหม่เข้ามาถ่ายเท ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้ถูกกำจัดไป และค่าฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐานแล้ว
ผอ.สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียงกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของฤดูจากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน ทำให้ชั้นบรรยากาศนิ่ง ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีการจราจรหนาแน่น ทำให้ฝุ่นละอองจากการจราจรสะสม เกิดเป็นสภาวะดังกล่าว ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อเทียบกับปี 2559 แล้วพบว่าปี 2559 มีความรุนแรงกว่าปีนี้ แต่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวคนเลยไม่ทันสังเกต โดยวัดได้ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับเหตุการณ์ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยครั้งในภาคเหนือ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เหมือนที่เป็นข่าวในทุกๆ ปี
อนึ่ง ฝุ่นที่มีขนาดเล็กแบบนี้ มีผลทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอึดอัด หายใจไม่ออก บางคนอาจมีอาการป่วย และหากในฝุ่นมีสารพิษปะปนมาด้วยจะยิ่งส่งผลอันตรายต่อระบบทางกายหายใจ ซึ่งแนะนำวิธีป้องกันว่า หากคนที่ไม่ได้อยู่นอกบ้านเป็นเวลานานให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา แต่หากใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านควรใส่หน้ากากชนิด N95 เนื่องจากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีกว่า
และหลังจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษจะมีการติดตั้งตัววัดค่าฝุ่นละอองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นการวัดค่ามาตรฐานของประเทศ และในอนาคตจะมีการปรับระดับมาตรฐานและเฝ้าระวังฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนด้วย
+ อ่านเพิ่มเติม