กรมควบคุมมลพิษเผย ผลการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพจากภาวะสภาพอากาศนิ่งและชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศสะสมตัว พบได้ในบางวันช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แนะผู้มีโรคประจำตัวทางระบบหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผ่านเฟซบุ๊กจากกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่า กทม.มีค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินมาตรฐานและเป็นอันตราย ระบุคำให้สัมภาษณ์ของนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันที่ 24 มกราคม 2561 ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)
โดยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ เวลา 12.00 น. ของวันที่ 24 มกราคม 2561 ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในช่วง 54 – 85 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 – 71 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และสมุทรสาคร 114 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
นอกจากนี้นางสุณียังระบุว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ https://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้
(ภาพจาก Facebook เพจ : กรมควบคุมมลพิษ)
+ อ่านเพิ่มเติม