กกร.เปิดประเด็น คณะกรรมการค่าจ้างกลางปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอถึง 92% จากจังหวัดทั้งหมด แถมมี 35 จังหวัดไม่ได้เสนอก็ปรับขึ้นให้ ส่งผลกระทบต้นทุนการจ้างและเร่งอัตราการว่างงาน ขณะ รมว.แรงงานยืนยัน ตัวเลขปรับค่าจ้างตรงกับตัวเลขของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด
นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศในระดับ 5-22 บาทหรือ 1.64 หรือ 7.14% โดยกกร.ได้สอบถามไปยังสมาชิกทั่วประเทศเพื่อประเมินผลกระทบ พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ได้ปรับขึ้นเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง คิดเป็น 92% ของจังหวัดทั้งหมด รวมทั้งมี 35 จังหวัด ที่ถูกปรับค่าจ้างขึ้น แม้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะไม่ได้เสนอให้ปรับค่าจ้าง อาทิ จังหวัดระยอง ที่มีการเสนอให้ค่าจ้างอัตราคงที่ ที่ 308 บาทต่อวัน แต่ถูกประกาศปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่มีภาคเกษตร ภาคบริการและผู้ประกอบการ SME อยู่จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างและการผลิตทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานมากขึ้น
ทั้งนี้จากผลกระทบทั้งหมด กกร. ต้องการเสนอให้ภาครัฐทบทวนมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่อีกครั้งก่อนจะนำเสนอมตินี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในวันนี้จะนำข้อเสนอทั้งหมดของเอกชนส่งเป็นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาทบทวน
ขณะที่พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ไม่ตรงตามมติอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดว่า ตัวเลขนี้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ยืนยันว่าตรงกับของจังหวัด จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ได้ เพราะเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนธุรการ โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. ในสัปดาห์หน้า
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า หลักการในการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5% โดยเฉลี่ย ถือว่าสูงในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ความจริงแล้วเขาเสนอมาเพียงไม่ถึง 1% แต่รัฐบาลมองทุกด้าน เพราะเห็นว่าน่าจะพิจารณาโดยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ผู้ประกอบการ และเรื่องเงินเฟ้อ ค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้ ต่ำสุดคือ 5 บาท และสูงสุดคือ 22 บาท อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่ตอบรับค่อนข้างดี ส่วนเรื่องผลกระทบเรามีมาตรการรองรับหลายเรื่องแล้ว จากข้อมูลที่เรามี ในช่วงใหม่ๆ อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่หลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมากต่อเศรษฐกิจ ส่วนกรณีเครือข่ายแรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นเท่ากันนั้น ต้องดูหลายเรื่อง และเรื่องดังกล่าวต้องมีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา
+ อ่านเพิ่มเติม