สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แถลงผลตรวจลายนิ้วมือและ DNA บนลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 30 ล้าน ระบุพบลายนิ้วมือและฝ่ามือจำนวนมาก แต่ที่มากพอจะตรวจได้มีเพียง 2 รอยและเป็นของฝ่ายอดีตนายตำรวจ ส่วน DNA มีปริมาณไม่มากพอจะตรวจได้ว่าเป็นของใคร ยืนยันตรวจซ้ำโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน ผลการตรวจได้มาตรฐานสากล แต่ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าใครเป็นเจ้าของลอตเตอรี่เพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน
วันนี้เวลาประมาณ 14.00 น. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เปิดแถลงผลตรวจลายนิ้วมือและ DNA บนลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 30 ล้านบาท ที่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของถึงสองราย โดยนายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า สภ.เมืองกาญจนบุรีได้มีหนังสือพร้อมหมายเรียกเอกสารความอาญาถึงกองสลาก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ให้ส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 งวดที่ 41 ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ชุดที่ 4,7,14,15 และ 22 หมายเลข 533726 มูลค่ารางวัล 30 ล้านบาท ให้สถาบันฯ ตรวจหาลายนิ้วมือแฝงและ DNA ขณะเดียวกัน สภ.เมืองกาญจนบุรีก็ทำหนังสือถึงสถาบันฯ ให้ตรวจเอกสารพยานบุคคลต่างๆ โดยมีตัวอย่าง DNA ของครูปรีชา ใคร่ครวญ, น.ส.พัชริดา พรมดา และ น.ส.ธนาพร สุธาทิพย์ และลายพิมพ์นิ้วมือแฝงของ น.ส.พัชริดา พรมดา กับของ น.ส.พัชราพร สุธาทิพย์ และทั้งสองหน่วยงานได้มาส่งมอบสลากกินแบ่งตัวจริงให้สถาบันฯ วันที่ 22 ธันวาคม
ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม มีหนังสือจาก สภ.เมืองกาญจนบุรี ขอส่งตรวจพยานบุคคลมาให้ตรวจใหม่หมดทั้ง 5 คน ทั้ง DNA และลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งสถาบันฯ ได้ตรวจเมื่อ 27 ธันวาคม โดยสถาบันได้ดำเนินการตั้งกรรมการ 2 ชุดเป็นคณะกรรมการด้านลายพิมพ์นิ้วมือ 1 ชุด ผู้เชี่ยวชาญด้าน DNA 1 ชุด ซึ่งคณะกรรมการชุดตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและฝ่ามือแฝง ได้ตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางเคมีและทางแสง ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ถึง 3 มกราคม 2561 จากนั้นจึงสลากที่ตรวจเสร็จแล้วส่งไปตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธีสกัดจากสารพันธุกรรม และเพิ่มสารด้วยเทคนิค PCR ระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 มกราคม 2561
โดยผลการตรวจสารพันธุกรรม พบว่ามีสารพันธุกรรมหลายคนปะปนกันอยู่ มีปริมาณสารพันธุกรรมน้อย ไม่สามารถแยกแยะสารพันธุกรรมที่ชัดเจน ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมที่เก็บจากบุคคลได้ ขณะที่ผลการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือพบลายนิ้วมือแฝง พบลายนิ้วมือและฝ่ามือมากกว่า 2 รอย แต่มีเพียง 2 รอยเท่านั้นที่ใช้ยืนยันตัวบุคคลได้ ซึ่งพบบนสลากชุดที่ 7 และ 22 ไปตรงกับลายพิมพ์หัวแม่มือซ้ายและนิ้วก้อยซ้าย ของ ร.ต.ท.จรูญ วิมล ส่วนลายนิ้วมือนอกเหนือจากนั้นมีลายเส้นน้อยมากจนไม่สามารถนำไปยืนยันตัวบุคคลได้ และไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีอื่นแล้ว
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าลอตเตอรี่ชุดดังกล่าวเป็นของ ร.ต.ท.จรูญ ใช่หรือไม่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตอบว่า ผลการตรวจระบุได้แค่ว่าปรากฎลายนิ้วมือแฝงของ ร.ต.ท.จรูญ แต่การจะบอกว่าร.ต.ท.จรูญ จะเป็นเจ้าของลอตเตอรี่หรือไม่นั้น น่าจะอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมากกว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องลายนิ้วมือแฝงเพียงประเด็นเดียว
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกระบวนการหาลายนิ้วมือ และการตรวจสอบผลซ้ำเพื่อความแม่นยำ ซึ่ง พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ สุวรรณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายพิมพ์นิ้วมือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า ได้หาลายนิ้วมือด้วยสารเคมี แล้วนำมาเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือของทั้ง 5 คน ซึ่งผู้ตรวจพิสูจน์ได้ลงความเห็นไปแล้ว และมีการทวนสอบ ตรวจซ้ำ โดยผู้ตรวจคนอื่นเพิ่มอีก รวมมีผู้ตรวจทั้งหมด 3 คน ซึ่งลอตเตอรี่นี้มีลายนิ้วมืออยู่ที่ขอบทั้งด้านกว้างและด้านแคบ แต่ไม่มีลายนิ้วมือที่ทับกันเลย ซึ่งลายนิ้วมือของนิ้วหัวแม่มือซ้ายที่พบ อยู่ตรงกลางฉบับและเป็นรอยกด ขณะที่ลายนิ้วก้อยที่พบอีกรอยหนึ่งอยู่บริเวณขอบซ้ายบนด้านหลังของลอตเตอรี่และเป็นรอยจับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการอ้างว่าลอตเตอรี่ถูกส่งมานานแล้ว จะมีผลต่อการปรากฎของรอยนิ้วมือหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง วิวรรณ ระบุว่า ถ้าอ้างว่านานแล้วรอยนิ้วมือหายก็เป็นไปได้ ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านไปอาจจะมีผลต่อลายนิ้วมือ แต่ในกรณีนี้ล็อตเตอรี่ยังคงสภาพเดิม ไม่ได้ฉีกขาด ยับยู่ยี่ ดังนั้นผลการตรวจน่าจะมีความคลาดเคลื่อนน้อย และต่อคำถามที่่ว่ารอยนิ้วมืออาจจะไปอยู่ที่ซองหรือไม่ พ.ต.ท.หญิง วิวรรณตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่มีการส่งซองมา มีแต่ตัวลอตเตอรี่ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเอามือไปจับสลากทุกครั้งไม่ได้หมายถึงว่ารอยนิ้วมือจะติดบนสลากทุกครั้ง ถ้าคนที่มือเปียก มีเหงื่อ จะติดได้ง่ายกว่าคนที่มือแห้ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงกระบวนการพิสูจน์สารพันธุธรรม (DNA) นายแพทย์วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า DNA ที่พบบนสลากนั้นมีของหลายคน แต่ปรากฎน้อยจนไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ซึ่งการตรวจของสถบันฯ ใช้วิธีการเป็นมาตรฐานสากล และเป็นวิธีเดียวกับที่ FBI ใช้ ทั้งนี้ผลการตรวจในวันนี้ไม่ได้บอกว่าใครเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ แต่บอกแค่ว่ามีการจับและใครจับเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดที่สำคัญคือเรื่องระยะเวลาที่จะมีผลปริมาณสารพันธุกรรมที่ปรากฎอยู่บนล็อตเตอรี่
จากนั้นผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กล่าวปิดการแถลงข่าวระบุว่า ขณะนี้ถือว่าจบภารกิจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้ว ต่อจากนี้จะได้ส่งเอกสารและหลักฐานต่างๆ มอบกองสลากและสภ.เมืองกาญจนบุรีดำเนินการต่อไป ซึ่งทางพนักงานสอบสวนไม่ได้ร้องขออะไรจากสถาบันฯ เพิ่ม ส่วนเรื่องการแจ้งผลการตรวจสลากต่อคู่กรณีเป็นหน้าที่พนักงานสอบสวน พร้อมทั้งยืนยันว่าสถาบันฯ ตรวจพิสูจน์ด้วยมาตรฐานสากล มีใบรับรองจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ ISO 17025 และ 17022 ซึ่งบังคับมาจากต่างประเทศ จึงขอให้มั่นใจในผลการตรวจว่าถ้าใช่คือใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่ ไม่แน่ใจคือไม่แน่ใจ
จากนั้นนายสมณ์ได้ส่งมอบเอกสารผลการตรวจให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรอทางกองสลากฯ มารับสลากกินแบ่งชุดดังกล่าวคืนต่อไป