แพทย์ ชี้ 'ไวรัสโรต้า' รุนแรงน้อยกว่า 'อหิวาตกโรค' ย้ำปชช. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
logo ข่าวอัพเดท

แพทย์ ชี้ 'ไวรัสโรต้า' รุนแรงน้อยกว่า 'อหิวาตกโรค' ย้ำปชช. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

12,289 ครั้ง
|
09 ม.ค. 2561
กรมควบคุมโรค ชี้ไวรัสโรตารุนแรงน้อยกว่าอหิวาตกโรค เตือนประชาชนหากป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
 
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตาหลังพบในผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เดิมจะพบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน - 5 ปี แต่ปัจจุบันถูกพบในผู้ใหญ่มากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยเฉพาะจากฝนเป็นหนาว เพราะไวรัสเติบโตได้ดีในอากาศเย็นชื้น รวมถึงความแข็งแรงของร่างกายที่ไม่เพียงพอ แต่ยืนยันว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคอหิวาตกโรคหลายเท่า ผู้ป่วยจะมีอาการไข้นำ อาเจียน และท้องเสียถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน 
 
โรคอุจจาระร่วง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตลอดปี 2560 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเกือบ 1 ล้านราย โดยปัจจุบันไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง 
 
แนวทางการรักษาจะรักษาไปตามอาการ สามารถรักษาได้ง่าย เบื้องต้นหากท้องเสียติดต่อกันผู้ป่วยควรหาเครื่องดื่มเกลือแร่มาดื่มเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป 
 
ขณะที่วิธีการดูแลตัวเองให้ห่างจากไวรัสโรตา ทำได้ง่าย เพียง 4 ข้อเท่านั้น 
1. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ
2. กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
3. รับประทานอาหารที่ปรุง สุก ร้อน สะอาด และไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ 
4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ ของเล่น และเสื้อผ้าของผู้ป่วย โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ 
 
ทั้งนี้ ผู้ปกครองหรือคนดูแลควรหมั่นสังเกตอาการของบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายมากผิดปกติ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะช็อกจากการขาดน้ำและการเสียชีวิต 
 
อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศเคยมีการผลิตและใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโรตา แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากพบความอันตรายจากการใช้วัคซีน คือมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะลำไส้กลืนกัน จนผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนในประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนนำเข้ามาใช้บางแห่ง แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่รับรอง เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี ทั้งนี้อยากเตือนประชาชนทุกคนว่าเมื่อพบอาการในตัวเองหรือคนใกล้ตัว ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
 
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 10 มกราคม 2561 นี้ กรมควบคุมโรค เตรียมประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรค และเสนอแนะแนวทาง มาตรการป้องกันโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส พร้อมกำชับและเตรียมถ่ายทอดแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง