1. "ยิ่งลักษณ์" หนีศาลฟังคำตัดสินคดีจำนำข้าว ให้เหตุผล "น้ำในหูไม่เท่ากัน"
เป็นอีกหนึ่งคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย เมื่อ "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ต้องตามรอยพี่ชายอย่าง "นายทักษิณ ชินวัตร" หลบหนีคดีไปยังต่างประเทศอีกหนึ่งคน หลังเจ้าตัวตัดสินใจไม่มาฟังคำตัดสินของศาลฎีกา แผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่า "น้ำในหูไม่เท่ากัน" (อ่านข่าว คลิก) นำมาซึ่งการออกหมายจับ และต่อมามีสอบสวนการหลบหนีของเธอ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาระบุว่า เธอหลบหนีคดีอยู่ที่ดูไบ แต่มีกระแสข่าวอีกกระแสระบุว่า เธออยู่ที่อังกฤษ
และในที่สุด ศาลฎีกาฯก็ตัดสินโดยไม่ปรากฎตัวจำเลย สั่งจำคุก "ยิ่งลักษณ์" 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาพร้อมออกหมายจับ (อ่านข่าว คลิก) และในคดีชุดเดียวกันนี้ มีจำเลยโดนสั่งจำคุกอีกหลายราย ทั้งตามกฎหมายอาญา กฎหมายป.ป.ช. และกฎหมายฮั้วประมูล เช่นนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ที่โดนจำคุกรวม 42 ปี, นายภูมิ สาระผล โดนคุก 36 ปี เป็นต้น (อ่านข่าว คลิก)
2. บุคคลการเมืองแห่งปี ที่ชื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"
ยังคงเป็นบุคคลการเมืองคนสำคัญแห่งปี กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ตลอดปีที่ผ่านมา โดยปีนี้มีทั้งเรื่องที่เป็นสาระและสีสันหลายอย่าง ทั้งการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกาย (อ่านข่าว คลิก), โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (อ่านข่าว คลิก) หรือกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำ (อ่านข่าว คลิก) จนมาถึงการปลดล็อกพรรคการเมืองช่วงปลายปี (อ่านข่าว คลิก)
นอกจากนี้ "บิ๊กตู่" ยังต้องเผชิญกับปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์บุุคคลรอบข้าง ทั้งน้องชายที่ถูกระบุว่าขาดประชุม สนช. (อ่านข่าว คลิก), พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถูกวิจารณ์จากกรณีให้สัมภาษณ์เรื่องนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิต และกรณีแหวนเพชร-นาฬิกาหรู เป็นต้น และหนึ่งในคำพูดที่ปรากฎบ่อยที่สุดของปีนี้ของบิ๊กตู่ก็คือ "ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป"
แต่ก็ไม่ใช่กระแสที่เกิดจากภายนอกเท่านั้น ยังมีกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ทำให้เกิดกระแสในสังคมด้วยตนเอง เช่น กรณีเชิญประชาชนตอบ 4 และ 6 คำถาม เป็นต้น (อ่านข่าว คลิก) และภาพที่พล.อ.ประยุทธ์พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ของรัฐบาลนี้ (อ่านข่าว คลิก)
ส่วนสีสันของปีนี้ ก็มีทั้งช็อตหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวช่วงสงกรานต์ (อ่านข่าว คลิก), หรือช่วงที่งดให้สัมภาษณ์ด้วยเสียง แต่ใช้วิธีเขียนตอบสัมภาษณ์แทน (อ่านข่าว คลิก), หรือกรณีให้สัมภาษณ์วิจารณ์การแต่งตัวของลำไย ไหทองคำ (อ่านข่าว คลิก) และกรณีปะทะกับชาวประมงขณะลงพื้นที่ภาคใต้ (อ่านข่าว คลิก) หรือช่วงใกล้สิ้นปีที่ยืนยันว่า "ปีหน้าจะพูดจาเพราะๆ อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด" (อ่านข่าว คลิก) ทั้งหมดนี้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องติดโผ "บุคคลการเมืองแห่งปี" อย่างไม่ต้องสงสัย
3. ตามหาสุดหล้าแดนธรรมกาย ไม่พบ "พระธัมมชโย"
เป็นเรื่องยืดเยื้อต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ "พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย" หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า "ธัมมชโย" ถูกออกหมายจับตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2559 ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร จากคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
จนมาปีนี้ ในที่สุด กรมสอบสวนคดีพิเศษก็เข้าค้นวัดพระธรรมกายจนได้ โดยเริ่มจากการประกาศคำสั่งมาตรา 44 ให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม (อ่านข่าว คลิก) จนสามารถเดินเท้าเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายได้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยมีบรรยากาศที่ตึงเครียดและการเผชิญหน้ากับลูกศิษย์เป็นระยะ แต่ตลอดการค้นทุกซอกทุกมุมก็ไม่พบพระธัมมชโย และมีผู้ที่ตัดสินใจผูกคอตายเพื่อประท้วงการใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายด้วย
สุดท้าย พระธัมมชโยถูกถอดสมณศักดิ์ รวมถึงพระทัตตชีโวซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสของพระธรรมกายด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่เจอตัวพระธัมมชโยอยู่ดี ดีเอสไอจึงตัดสินใจยุติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายในวันที่ 11 มีนาคม รวมระยะเวลาค้นหาเกือบ 1 เดือน (อ่านข่าว คลิก) และพล.อ.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล ออกมาแจกแจงภายหลังว่าพระธัมมชโยมีหมายจับอยู่ถึง 58 หมาย
4. เมื่อ "แหวนเพชร-นาฬิกาหรู" สะเทือน "ประวิตร วงษ์สุวรรณ"
กลายเป็น Talk of the town สำหรับวลีเด็ด "แหวนมารดา นาฬิกาเพื่อน" ที่ใช้พูดถึงกรณีมีภาพพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สวมแหวนเพชรและนาฬิกา ซึ่งต่อมาปรากฎว่าไม่อยู่ในบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. แม้ว่าเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่าไม่ทราบที่มาของวลีนี้ก็ตาม (อ่านข่าว คลิก)
งานนี้ทำให้ พล.อ.ประวิตรถูกสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และทำให้ชาวเน็ตต่างไปขุดคุ้ยกันมาว่านาฬิกาเรือนหรูของ "บิ๊กป้อม" เป็นอย่างไร ขณะที่ป.ป.ช.ก็ถูกกดดันให้สอบสวนในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดนี้ทำให้พล.อ.ประวิตรเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อไประยะหนึ่ง และจนบัดนี้สังคมก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้
แต่นี่ไม่ใช่มรสุมลูกเดียวของ "บิ๊กป้อม" ในปีนี้ เมื่อพลเอกประวิตรยังถูกวิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีพูดถึงการเสียชีวิตของ "น้องเมย" นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา และถูกสังคมตั้งคำถามว่าการธำรงวินัยมีผลต่อการเสียชีวิต งานนี้บิ๊กป้อมให้สัมภาษณ์นักข่าวด้วยประโยคว่า "ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย" ทำเอาสังคมแสดงความเห็นโจมตีอย่างดุเดือด จนในที่สุด ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษด้วยปากของตนเอง (อ่านข่าว คลิก)
5. จากดราม่าถวายบังคม สู่การถอด "เนติวิทย์" จากสภานิสิตจุฬาฯ
ชื่อของ "เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ กลายเป็นที่รู้จักของสังคมในวงกว้าง หลังโพสต์เล่าเหตุการณ์ระหว่างพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความวุ่นวาย โดยอ้างว่าในพิธีมีการบังคับให้หมอบกราบถวายบังคมทั้งที่ฝนตก ทำให้ตนและเพื่อนตัดสินใจเดินออกจากพิธี โดยมีเหตุทำร้ายร่างกายจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ปะทะดังกล่าวมีการบันทึกไว้โดยผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เมื่อภาพปรากฎออกมาจึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ฝั่งอาจารย์มองว่ามีการเตรียมการมาป่วนพิธีและนัดแนะกับนักข่าวไว้แล้ว (อ่านข่าว คลิก)
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาจุฬาฯ ออกคำสั่งปลด "เนติวิทย์" พร้อมเพื่อนรวม 5 คนออกจากการเป็นสมาชิกสภานิสิต พร้อมกับการตัดคะแนนความประพฤติ ขณะที่อาจารย์ที่มีภาพปะทะกับกลุ่มของเนติวิทย์ก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีเพื่อรับการสอบสวนเช่นกัน และท้ายที่่สุด จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ต่อการนำเสนอข่าวเรื่องดังกล่าว โดยมุ่งประเด็นไปที่การนำเสนอข่าวของสื่อโดยเฉพาะสื่อตะวันตก เนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวใช้ถ้อยคำหนักแน่นกว่าแถลงการณ์ทุกฉบับที่ผ่านมา และเน้นย้ำว่าขอให้สื่อหยุดการเชื่อมโยงเรื่องนี้กับประเด็นทางการเมืองและการควบคุมความคิดต่าง รวมทั้งไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับวิธีการของมหาวิทยาลัย แต่ขอบคุณที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจในจุดยืนของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ (อ่านข่าว คลิก)
ทั้งหมดนี้เป็นข่าวและบุคคลการเมืองสำหรับปี 2560 ตามโรดแมปของ คสช. การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.2561 และการปลดล็อกพรรคการเมืองก็ยังอยู่ในกระแสที่ต้องจับตา คงต้องรอดูว่าสถานการณ์การเมืองในปีหน้า จะเดินต่อไปอย่างไร.
+ อ่านเพิ่มเติม