'เพื่อไทย' แถลงการณ์ค้านคำสั่งคสช. ระบุขัดรธน. ละเมิดสิทธิและแฝงวาระสืบทอดอำนาจ
logo ข่าวอัพเดท

'เพื่อไทย' แถลงการณ์ค้านคำสั่งคสช. ระบุขัดรธน. ละเมิดสิทธิและแฝงวาระสืบทอดอำนาจ

ข่าวอัพเดท : รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ค้านคำสั่งคสช. ระบุขัดรธน. ละเมิดสิทธิเสรีภาพนักการเมือง ซ่อนเร้นสืบทอดอำนาจและเลื่อนเลือกตั พรรคเพื่อไทย,คำสั่,คสช.,แถลงการณ์

10,859 ครั้ง
|
27 ธ.ค. 2560
รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ค้านคำสั่งคสช. ระบุขัดรธน. ละเมิดสิทธิเสรีภาพนักการเมือง ซ่อนเร้นสืบทอดอำนาจและเลื่อนเลือกตั้ง ขณะแกนนำพรรคยืนยันจะใช้ทุกช่องทางทวงถามความยุติธรรม ค้านคำสั่งคสช.53/2560 เตรียมยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังปีใหม่
 
พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยสมาชิกพรรค อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายวัฒนา เมืองสุข และนายสามารถ แก้วมีชัย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่เคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำลายระบบพรรคการเมืองและสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้กับสมาชิกพรรคเกินกว่าที่จำเป็น ถือว่ามีวาระซ่อนเร้น ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร
 
โดยแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่องคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ระบุเนื้อหาไว้ 6 ข้อ คือ
 
1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา แต่ คสช. เป็นเพียงคณะที่ได้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง การที่หัวหน้า คสช. จึงไม่สามารถใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 
2.การออกคำสั่งคสช.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ตรงกับเงื่อนไขของการใช้มาตรา 44 เพราะคสช. ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาที่ คสช. ก่อขึ้นจากการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจการทางการเมืองและยังคงข้อห้ามตามคำสั่งดังกล่าวไว้โดยไม่มีเหตุผล การออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีความชอบธรรม
 
3.การกระทำครั้งนี้ของหัวหน้า คสช. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมือง แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะประกาศใช้แล้วก็ยังไม่ยอมยกเลิกคำสั่งเดิม ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้ง พรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ คสช. ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว เป็นการกระทำที่หัวหน้า คสช. ไม่ให้ความสำคัญและเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และทำลายระบบพรรคการเมืองของประชาชน
 
4.การดำเนินการของ คสช. จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนคสช. และหัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ โดยให้สิทธิพรรคการเมืองใหม่จัดประชุมได้ โดยขออนุญาต คสช. ก่อนแต่พรรคการเมืองเดิม ไม่สามารถทำได้ การดำเนินการของหัวหน้า คสช. จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองบนความเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลับเป็นไปเพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิมและสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่มากกว่า
 
5.มีการเพิ่มอำนาจให้ คสช. มีอำนาจตอบข้อหารือของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองได้ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจประธาน กกต. ผู้เดียว จึงถือว่า คสช. ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มอำนาจให้ตนเองเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง
 
6.การกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงเดือนตุลาคม 2561 หรือเมื่อมีการยกเลิกประกาศของ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีเจตนาซ่อนเร้นว่าจะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาดังกล่าวพรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นเหตุผลและข้ออ้างของ คสช. ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้
 
ภายหลังการอ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยเรื่องคัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 53/2560 ได้มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมจากแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้ทุกช่องทางที่เปิดให้ทวงถามความถูกต้องและยุติธรรม โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งหัวหน้าคสช.ในช่วงหลังปีใหม่ ส่วนการยื่นตีความจะทำให้กระบวนการล่าช้าและทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีกหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกับพรรคการเมืองอื่น ซึ่งเวลานี้การเรียกร้องระบบที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ 
 
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง ย้ำว่า คำสั่งนี้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งในตัวคำสั่งและเนื้อหา เพราะการแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป. ถูกกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ผู้มีอำนาจคือรัฐสภาต้องรับฟังความเห็นจากองค์กรต่างๆ อีกหลายองค์กร ไม่ใช่ คสช. ดังนั้น ในฐานะพรรคการเมือง และประชาชนจึงมีสิทธิ์ที่จะร้องขอความเป็นธรรมจากศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง