จิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เปิดสถิติข้าราชการตำรวจป่วยโรคซึมเศร้ายอดรวมในปีนี้ สูงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของประชาชนทั่วไปที่ป่วยด้วยโรคนี้ พบมากสุดที่ ตำรวจภูธร ภาค 5 ขณะที่ รพ.ตร.เตรียมเปิดช่องทางให้คำปรึกษาด้านจิตเวช แก่ข้าราชการตำรวจ ทั้งทางเพจเฟซบุ๊ก และสายด่วน ป้องกันปัญหาตำรวจเครียดฆ่าตัวตาย คาดในสัปดาห์นี้แล้วเสร็จ
ว่าที่ พ.ต.ต.หญิง ปองขวัญ ยิ้มสะอาด นายแพทย์ (สบ.2) กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ระบุว่า สถิติในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึง ธันวาคม 2560 มีข้าราชการตำรวจเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าจำนวนกว่า 605 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนมากมาจากปัญหาการทำงาน ทั้งถูกกดดัน งานเยอะ ความเครียด และเรื่องโยกย้าย
จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2559 ของกองวิจัยข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 299 ราย พบมากสุดจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ขณะที่ยอดประชาชนที่เข้ามารับการรักษาด้วนโรคซึมเศร้า ในช่วงมกราคม 2560 ถึง ปัจจุบัน มียอดรวมกว่า 1,813 ราย ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าข้าราชการตำรวจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 25 จากจำนวนผู้ป่วยปกติ หรือถือเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และสายงานที่พบว่ามีการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากสุดคือสายงานปราบปราม อาจเพราะมาจากความเครียดจากการกดดันในสายงานที่รับผิดชอบ
ปัจจัยเสี่ยงอีกหนึ่งสาเหตุมาจากการปล่อยให้ผู้ป่วยโรคนี้อยู่กับโซเชียลเป็นเวลานานๆ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการฆ่าตัวตายเนื่องจากโซเชียล ส่วนมากจะเป็นการบอกเล่าเรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ของคนอื่น และเมื่อผู้ป่วยเข้าไปเสพสิ่งเหล่านี้จะยิ่งตอกย้ำสิ่งที่คิดว่าตัวเองขาด และการใช้เวลากับโซเชียลยังทำให้ไม่ได้พบปะผู้คน ขาดการติดต่อสัมพันธ์ ยิ่งสร้างความซึมเศร้ามากขึ้น คนใกล้ตัวหรือคนรอบข้างต้องช่วยกันดู แลอย่างใกล้ชิด
ซึ่งสำหรับผู้ป่วยหรือคนรอบข้างพบเหตุความผิดปกติของตัวผู้ป่วยเช่น นิสัยส่วนตัวเปลี่ยนไปจากปกติ สิ่งที่เคยชอบ เคยทำกลับไม่ชอบ หรือไม่ทำในสิ่งที่เคยทำ หรือนอนน้อย พักผ่อนน้อย มีการซึม มีความเครียดยาวนานกว่าปกติ อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ให้รีบติดต่อเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี
ด้านพ.ต.ท.ชนินทร์ ชะโยชัยชนะ นายแพทย์(สบ8)โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า ขณะนี้โรงพยาบาลตำรวจเตรียมเปิดเพจเฟซบุ๊ก และสายด่วน ที่จะคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจิตเวช และมีแบบสอบถามให้ข้าราชการตำรวจลองทำเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยป้องกันปัญหาข้าราชการตำรวจที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและยังไม่รู้ตัว ก่อนที่จะก่อเหตุฆ่าตัวตายเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากช่องทางเก่าที่เป็นสายด่วน 1599 ยังติดปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลหลายหน่วยงาน ทำให้บางครั้งการติดต่อขอคำปรึกษาไม่ทันต่อสถานการณ์ที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้งการติดต่อผ่านเพจและสายด่วนใหม่ที่กำลังจะเปิดภายในอาทิตย์นี้ ข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยจะเป็นความลับ เชื่อว่าจะมีตำรวจที่มีข้อสงสัยว่าตัวเองอาจจะป่วยด้วยโรคนี้ยินดีเข้ารับการปรึกษามากขึ้น
สำหรับช่องทางการติดต่อทางเพจเฟซบุ๊กและสายด่วนใหม่ที่จะเปิดภายในสัปดาห์นี้จะมีนักจิตวิทยาจำนวน 9 ราย ทำหน้าที่เป็นแอดมินในการช่วยให้คำปรึกษาและจะมีนายแพทย์จิตเวชอีก 4 รายคอยให้คำปรึกษาหากต้องการความเห็นจากแพทย์ สำหรับช่องทางการติดต่อใหม่สองช่องทางนี้เบื้องต้นยังคงเปิดให้คำปรึกษา เฉพาะข้าราชการตำรวจ ก่อนเนื่องจากบุคลากรทางด้านจิตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจยังไม่เพียงพอ-ขณะที่ในอนาคตจะมีการผลักดันให้การตรวจสุขภาพประจำปีของเขาจะการตำรวจทุกนายต้องมีการตรวจสุขภาพจิตร่วมด้วยซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลตำรวจอยู่ระหว่างการจัดเตรียมโครงการนี้เพื่อเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม