จากเหตุช็อกวงการบันเทิงเกาหลีใต้กรณี จงฮยอน สมาชิกแห่งวงบอยแบนด์ชื่อดัง SHINee เสียชีวิตภายในอพาร์ทเมนท์ใจกลางกรุงโซล โดยสาเหตุของการเสียชีวิตในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย เนื่องจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียนั้น
ล่าสุด พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือ หมอมินบานเย็น เจ้าของเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวพร้อมอธิบายถึงโรคซึมเศร้า ชี้ไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทและสามารถรักษาได้
“#ซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ
เมื่อวานนี้มีข่าวที่น่าเศร้า โดยเฉพาะสำหรับแฟนคลับวงบอยแบนด์เกาหลี SHINee เพราะนักร้องนำของวง จงฮยอน ฆ่าตัวตาย เพราะโรคซึมเศร้า
หมอเห็นความเห็นในบางเพจที่พูดถึงเรื่องนี้ ประมาณว่า เพราะไม่เข้มแข็งพอ เพราะอ่อนแอ ทำให้ตัดสินใจคิดสั้น จริงๆ คงจะไปพูดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ ไม่ใช่ว่าไม่เข้มแข็ง
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทและสามารถรักษาได้ ผลร้ายแรงที่สุดของโรคซึมเศร้าคือ การฆ่าตัวตาย ทำให้เกิดความสูญเสียที่ไม่มีวันย้อนคืนอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
ที่สำคัญโรคซึมเศร้าสามารถเกิดกับใครก็ได้ ไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ สีผิว หรือ ความยากดีมีจน แม้แต่เด็กๆ
ไม่มีการแบ่งแยก ใครๆ ก็สามารถเป็นซึมเศร้าได้
ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะอ่อนแอ หรือคุณจะดราม่ากว่าคนอื่น
มันคือความเจ็บป่วยที่รักษาให้หายได้
ในประเทศไทยมีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตว่า มีคนที่มีภาวะซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน และโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย
รอบๆ ตัวเรา อาจมีใครสักคนที่กำลังเผชิญกับภาวะนี้ แต่ที่สำคัญ จะสังเกตยังไงว่าใครซึมเศร้า และจะช่วยเขาได้อย่างไร
คนที่มีโรคหรือภาวะซึมเศร้า อาจมีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หรืออาจจะเป็นลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย ยิ่งถ้าเป็นในเด็กและวัยรุ่นที่ซึมเศร้าอาการแสดงอาจจะไม่ตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่
นอกจากนั้น อะไรที่เคยชอบ ก็กลับกลายเป็นทำแล้วไม่สนุก ไม่ดีเหมือนเดิม เบื่อไปหมดทุกอย่าง ไม่อยากทำอะไร เริ่มอยู่คนเดียว แยกตัว ไม่สนใจใคร
บางคนอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน มีอาการนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
บางคนบอกว่า 'ตื่นเช้ามาก็ไม่อยากจะลุกจากที่นอนเลย เหมือนโลกไม่สดใส' มีความคิดแง่ลบไปหมดกับทุกๆ สิ่ง โทษตัวเองว่าผิด มองอนาคตแง่ลบ
โรคซึมเศร้าจะส่งผลถึงการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
หมอเคยคุยกับคุณแม่คนหนึ่งที่มีปัญหาการดูแลลูก อารมณ์เหวี่ยงขึ้นๆ ลงๆ ปรากฎว่า แม่เป็นโรคซึมเศร้า หลังจากรักษาแม่ การเลี้ยงดูลูกก็ดีขึ้น ทุกคนในบ้านมีความสุขขึ้น
บางคนที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงอาจมีจิตประสาทหลอน หวาดระแวง หรืออาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ อย่างที่เห็นในข่าว
คนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องการความเข้าใจ ใครสักคนที่รับฟัง ยอมรับในสถานะที่เค้าเป็นอยู่ โดยไม่ไปตัดสิน
คำพูดประมาณว่า "ไม่เป็นไรมากหรอก" "อย่าไปคิดมาก" "ตอนเราถูกแฟนทิ้งยังชิลได้ แกอย่ามาดราม่า" "เสแสร้งเปล่า" "เรียกร้องความสนใจ" "ฆ่าตัวตายทำไมบาปนะ" "ทำไมไม่คิดถึงพ่อแม่" คำพูดเช่นนี้อาจยิ่งทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในตัวเขา และยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ เมื่อมีข่าวคนที่เป็นซึมเศร้าทำร้ายตัวเอง หลายคนก็เอามาวิจารณ์กันในโลกโซเชียล ซึ่งมันคือความไม่เข้าใจและการไปตัดสิน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น
คนรอบข้างควรระมัดระวังเรื่องการทำร้ายตัวเอง พาเขาไปรับการรักษาและคำปรึกษาจากจิตแพทย์
เรื่องของอารมณ์ต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ ชีวิตคนเรามีเรื่องทั้งดีและร้ายผ่านเข้ามาเป็นธรรมดา วันหนึ่งอาจจะเป็นเราก็ได้ที่มีภาวะซึมเศร้า แต่อย่างที่บอก โรคนี้รักษาได้ แค่อย่านิ่งนอนใจ
หากคุณกำลังสงสัยว่ากำลังซึมเศร้า หรือเครียด ในเบื้องต้นสามารถโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่องค์กรสมาริตันส์ ประเทศไทย 02713-6793 (ภาษาไทย เวลา12.00 - 22.00) กับ 02713-6791 (ภาษาอังกฤษ 24 ชั่วโมง)
(เนื้อหาบางส่วนมาจากลิงก์นี้ ที่หมอเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บเด็กดี https://www.dek-d.com/loveroom/42635/ )
#หมอมินบานเย็น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้นสังกัดแถลง 'จงฮยอน' วง shinee ศิลปินเกาหลีชื่อดัง เสียชีวิตแล้ว พี่สาวเผยข้อความสุดท้ายบอกเป็นนัย