สุดอั้น! รพ.ชลบุรีประกาศเก็บค่าบริการทางการแพทย์สำหรับโรคไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ เริ่ม 15 ธันวาคมนี้ ระบุแบกรับภาระต้นทุนการให้บริการนอกเวลาไม่ไหวอีกต่อไป ผอ.โรงพยาบาลชี้ขาดแคลนบุคลากร-มีต้นทุนคลินิกนอกเวลากว่า 2 ล้านบาทต่อเดือนขณะที่ผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย้ำสอบถามประชาคมแล้ว ส่วนค่ายาและเวชภัณฑ์ยังได้สิทธิตามเดิม
เฟซบุ๊กชื่อ "รพ.ชลบุรี จ.ชลบุรี" ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ข่าวสารของโรงพยาบาลชลบุรี ลงประกาศว่าทางโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องเก็บค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ 100 บาท เฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง สิทธิเบิกได้ หรือสิทธิชำระเงิน หลังจากโรงพยาบาลไม่สามารถรับภาระต้นทุนการให้บริการนอกเวลาได้อีกต่อไป ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560
นอกจากนี้ ในประกาศยังกล่าวถึงนิยามของ "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" ตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ไว้ว่าหมายถึง "บุคคล ซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมินการจัดการและการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้น ของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้น"
ผู้สื่อข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์สอบถามไปยังโรงพยาบาลชลบุรีถึงปัญหาภาระการให้บริการจนเป็นที่มาของการเก็บค่าบริการสำหรับผู้ป่วยนอกเวลาราชการดังกล่าว นายสวรรค์ ขวัญใจพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรีเปิดเผยว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ บริการหลักของโรงพยาบาลคือการตรวจผู้ป่วยนอกในเวลาราชการ ส่วนผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลและผู้ป่วยฉุกเฉินจะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
แต่สำหรับผู้ป่วยนอกเวลาราชการจะมีผู้ป่วยกลุ่มไม่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน วิกฤติ หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สะดวกทำการรักษาในเวลาราชการ โรงพยาบาลจึงจัดเป็นคลินิกนอกเวลาราชการ ซึ่งมีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนราว 5,000 รายต่อเดือนในปัจจุบัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับสิทธิยกเว้นค่ารักษา และค่ายา ตามสิทธิต่างๆ เช่นบัตรทองมาโดยตลอด แต่เนื่องจากโรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของคลินิกนอกเวลาเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้างบุคลากรแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ค่าสาธารณูปโภค ค่ายา เวชภัณฑ์ พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ เป็นจำนวนเกือบ 2 ล้านบาทต่อเดือน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรียังเปิดเผยต่อไปว่า นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาคือการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ซึ่งเดิมขาดแคลนอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลยังต้องจัดหาบุคลากรเหล่านี้มาสับเปลี่ยน จากการปฏิบัติงานในเวลาราชการมาเป็นนอกเวลาราชการด้วย และในหน่วยสำคัญเช่นห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วย ยังต้องมีบุคลากรตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การจัดการคลินิกนอกเวลาราชการมีขีดจำกัด
ดังนั้นโรงพยาบาลจึงตัดสินใจเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน 100 บาทต่อคนตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 อย่างไรก็ตาม ส่วนของค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งนั้น ประชาชนที่มารักษาคลินิกนอกเวลาแบบไม่ฉุกเฉินยังได้รับสิทธิการรักษาในค่ายาและเวชภัณฑ์ตามสิทธิเดิมอยู่ เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ยังได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่ายา เวชภัณฑ์เช่นเดิม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรีย้ำว่า การจัดเก็บดังกล่าวไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลชลบุรีพ้นจากการขาดทุนในการให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ เพียงแต่ช่วยบรรเทาภาวะต้นทุนการบริการของโรงพยาบาลบ้าง และโรงพยาบาลได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาคมเรียบร้อยแล้ว พร้อมขอบคุณรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่เห็นความสำคัญในการสะท้อนปัญหาระบบสาธารณสุข และคาดหวังว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาบริการสาธารณสุขต่อไป
"โรงพยาบาลตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้สอบถามฟังความคิดเห็นจากประชาคมชลบุรีก่อนที่จะมีการจัดเก็บนี้ ซึ่งทางประชาคมเห็นพ้องในการจัดเก็บ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการต่อไปได้" นายสวรรค์ ผอ.รพ.ชลบุรีระบุ
อนึ่ง เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณราว 5,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องของโรงพยาบาล ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 3,000 ล้านบาทกระจายงบไปอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยใน ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีงบประมาณด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพประชาชนที่เพียงพอ แม้จะเป็นประเทศรายได้สูง ประกอบกับการที่ไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และปัญหาเทคโนโลยีการรักษาชั้นสูงและแพงขึ้น ทำให้แม้ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้นโยบายรัฐต้องพยายามมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค
รมว.สาธารณสุขยังระบุว่า การเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาลของรัฐนั้น การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการก็เป็นทางที่ทำได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความแออัด เพื่อให้ประชาชนที่สะดวกมาใช้บริการนอกเวลาและเสียค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น ลดความแออัดของคนไข้ช่วงกลางวัน ขณะที่แพทย์ก็มีรายได้เพิ่มโดยไม่ต้องออกไปทำงานรพ.เอกชน โรงพยาบาลเองก็มีรายได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรโรงพยาบาลอย่างคุ้มค่า ซึ่งการเปิดคลินิกนอกเวลานี้โรงเรียนแพทย์ทำมานานแล้ว และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ดำเนินการไปแล้ว 9 แห่ง คือ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.หนองคาย รพ.ขอนแก่น รพ.นครพิงค์ และ รพ.ศรีสะเกษ และจะเปิดที่ รพ.มหาราชนครราชสีมาในปี 2561 นี้