รายงานข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมจากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า บรรยากาศโดยทั่วไปบนท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มแพร่ปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกลงมาเป็นช่วงๆแต่ไม่หนักมากนัก ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน ได้ขยายวงกว้างทั้งจังหวัดแล้ว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำสุไหงโกลก บางนราและสายบุรี มีปริมาณล้นตลิ่ง ซึ่งจุดที่ถือว่าวิกฤตในขณะนี้คือ พื้นที่ อ.สุไหงโกลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากน้ำป่าบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่ อ.สุคิริน ได้ไหลบ่าลงมาสมทบกับปริมาณน้ำฝนในแม่สุไหงโกลกอย่างรวดเร็ว
โดยล่าสุดพบว่าแม่น้ำสุไหงโกลก มีปริมาณล้นตลิ่งสูงโดยเฉลี่ย 1.60 เมตร ส่งผลทำให้น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ราบลุ่มริมตลิ่งของ 8 ชุมชน ซึ่งตั้งอยู่เขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก ประกอบด้วย ชุมชนหัวสะพาน ท่าโรงเลื่อย ท่าประปา ท่าชมพู่ ท่าเจ๊ะกาเซ็ง ท่าบือเร็ง ท่ากอไผ่และชุมชนหลังด่าน ซึ่งมีระดับน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 100 ถึง 150 ซ.ม.
ทางด้าน นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโกลก เจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 30 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงโกลก และเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยธารน้ำใจสุไหงโกลก ได้ร่วมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่นำรถอพยพชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 ชุมชน จำนวน 11 ครัวเรือน รวม 57 คน ซึ่งมีทั้งเด็กเล็กและคนชรา มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพโรงเรียนเทศบาล 4 เป็นการชั่วคราว และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพักบริเวณชั้น 2
ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้นั้น พ.ท.นพดล พรหมนอก รองผู้บังคับชุดเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 และ พ.ต.ท.ประกาศิต หนูอิ่ม ผู้บังคับกองร้อย ตชด.ที่ 447 ได้ร่วมสนธิกำลังนำข้าวสารอาหารแห้ง เดินลุยน้ำออกตระเวนแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่บ้านโคกสะตอ ม.7 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี และบ้านปิเหล็ง ม.6 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับน้ำของ อ.สุไหงปาดีและ อ.เจาะไอร้อง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
ด้านสำนักงานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้รายงานผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 60 ถึงวันที่ 28 พ.ย.60 เกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ 301 หมู่บ้าน 23 ชุมชน 2 เขตเทศบาล 60 ตำบล 13 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 15,675 ครัวเรือน รวม 62,772 คน บ้านพักเสียหายบางส่วน 13 หลัง แยกเป็นพื้นที่ อ.สุคิริน 2 หลัง บาเจาะ 5 หลัง ตากใบ 2 หลัง ยี่งอ 3 หลัง และ อ.เมืองนราธิวาส 1 หลัง ถนนภายในหมู่บ้านถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย 73 สาย คอสะพานถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย 5 แห่ง ดินสไลด์ 3 แห่ง โรงเรียนสังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส ปิดทำการเรียนการสอน 18 โรง พื้นที่ทางเกษตรเสียหาย 6,930 ไร่ บ่อปลาเสียหาย 32 บ่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม