ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรมเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสกรณีการรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ พร้อมเรียกร้องให้ชี้แจงงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ นายวิศิษฏ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีศาลฎีกายกคำร้องการรื้อฟื้นคดีของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ผู้ต้องหาในคดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ว่าขอให้ตรวจสอบกระบวนการรับจ้างติดคุก และกระบวนการขอรื้อฟื้นคดี
นายอัจฉริยะ ได้ยื่นหลักฐานว่า ครูจอมทรัพย์นั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริง ซึ่ง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ทราบตั้งแต่แรกว่ามีการรับจ้างติดคุกจริง โดยการสอบปากคำนายสับ วาปี ตั้งแต่ครั้งแรกทราบว่า นายสับ วาปี รับจ้างเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท และรับเงินไปแล้ว 200,000 บาท โดยนายอัจฉริยะได้หลักฐานทั้งหมดที่นายอัจฉริยะ นำมายื่นในวันนี้ เป็นเอกสารของทางราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ตรวจพิสูจน์รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บค56 สกลนคร โดยผลสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บอกผลจากการตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนที่ส่งตรวจสอบ ไม่พบร่องรอยการเฉี่ยวชน ซึ่งเมื่อนำภาพป้ายทะเบียนจาก 12 ปีที่แล้ว ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ตรงกัน สอดคล้องกับกรมการขนส่งทางบก ว่าครูจอมทรัพย์ได้ไปแจ้งป้ายทะเบียนหายและขอป้ายทะเบียนใหม่ ส่วนทางโตโยต้า แถลงผลการตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนชิ้นส่วนของรถในจุดที่มีรอยชน คือบริเวณมุมซ้ายด้านหน้าของรถยนต์คันดังกล่าว และทั้ง 3 หน่วยงานสรุปมาว่า ไม่สามารถตรวจพบรอยเฉี่ยวชน ซึ่งขัดกับการแถลงข่าวที่ ว่าตรวจไม่พบรอยเฉี่ยวชน
นอกจากนี้ นายอัจฉริยะยังบอกอีกว่า ครูอ๋อง หรือนายสุริยา นวลเจริญ เป็นหัวหน้าขบวนการรับจ้างหาคนมาติดคุก ซึ่งรองปลัดดุษฎี ก็ได้แถลงข่าวว่าทราบตั้งแต่แรกแล้วว่ามีการรับจ้างติดคุก แต่เพราะเหตุใดจึงยังนำงบประมาณแผ่นดิน มาใช้ในการรื้อฟื้นคดี ตนเองจึงเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสกรณีการรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ และต้องการให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณจำนวนเท่าไรในคดีนี้ และถูกต้องตามระเบียบของทางราชการหรือไม่ โดยขอให้เปิดเผยต่อสาธารณะชน
ทั้งนี้ก่อนรับเรื่องและดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดมากน้อยเพียงใด คณะทำงานมีส่วนร่วมรู้เห็นในขบวนการรับจ้างติดคุกหรือไม่ และต้องการให้มีการเรียกเงินค่าดำเนินการ ในระหว่างการรื้อฟื้นคดีคืนจากกลุ่มผู้กระทำผิด
ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้วในเรื่องดังกล่าว ตอนนี้จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องข้อเท็จจริงได้ เมื่อกรรมการมีข้อพิสูจน์อะไรขึ้นมาต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งก่อนที่จะมีความเห็นในการรื้อฟื้นคดี ได้มีการวางระบบเพิ่มเติมว่าจะต้องมีคณะกรรมการคนใดมาเพิ่ม ไม่ใช่การทำงานของคนใดคนหนึ่ง
ขณะนี้ได้มีการปรับระบบการรับเรื่อง ว่าให้ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม หรือ สบร. เป็นผู้รับเรื่อง และเป็นคนกระจายเรื่องให้หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม หากเป็นเรื่องการรื้อฟื้นด้านกฎหมาย ก็จะมีกรมคุ้มครองสิทธิ์ หากเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ก็จะไปที่ กองการเจ้าหน้าที่ หรือ กจ. ในส่วนของการดำเนินการบุคคลอื่น ก็อาจจะมีดีเอสไอเข้ามาสอบสวน ถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในระหว่างการดำเนินงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม