ดร.นพ.นิพนธ์ วอนคนไทย ตรวขสุขภาพควบคู่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทุกปี หลังจาก 'โจ บอยสเก๊าท์' เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย
logo ข่าวอัพเดท

ดร.นพ.นิพนธ์ วอนคนไทย ตรวขสุขภาพควบคู่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทุกปี หลังจาก 'โจ บอยสเก๊าท์' เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย

1,979 ครั้ง
|
13 พ.ย. 2560
เมธีวิจัย สกว. ระบุต้นเหตุ โจ บอยสเก๊าท์ หัวใจวายเฉียบพลันเสียชีวิต เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดตัวและเลือดไม่ไปเลี้ยงร่างกาย วอนคนไทยตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทุกปีควบคู่การตรวจร่างกายปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยความดันสูง เบาหวาน ไขมัน รวมทั้งนักกีฬาภาวะเครียด
 
ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ และหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกรณีการเสียชีวิตของนายธนัท ฉิมท้วม หรือ 'โจ บอยสเก๊าท์' หัวใจวายขณะเล่นคอนเสิร์ตเมื่อคืนวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา 
 
กรณีของโจคาดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว โดยภาวะที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ได้ยินกันบ่อยคือ ไฟฟ้าดูด ฟ้าผ่า รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต คือ หัวใจขาดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย แม้ผู้ป่วยอาจจะไม่เสียชีวิตทันทีในขณะนั้น แต่จะทำให้เกิดสภาวะความผิดปกติของไฟฟ้าในหัวใจห้องล่าง เป็นเหตุให้เกิดการรวนของการนำไฟฟ้าในหัวใจ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
 
การสังเกตอาการในเบื้องต้น คือ ผู้ป่วยจะเจ็บหน้าอกแล้วล้มฟุบ เนื่องจากทันทีที่กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนออกไปเลี้ยงร่างกายได้ โดยอวัยวะที่ขาดเลือดไปเลี้ยงได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด คือ สมอง เมื่อเลือดไม่ไหลเวียนไปที่สมองก็จะทำให้หมดสติ หากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ทันท่วงทีก็จะเสียชีวิตในที่สุด 
 
ทั้งนี้วิธีการรักษาที่ดีสุดและเป็นวิธีเดียว คือ การใช้ไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ถ้าไม่มีเครื่องมือดังกล่าวก็จะต้องทำ CPR เพื่อพยุงเวลาในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด เพื่อให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย
 
  สำหรับข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงเหมือนกับถูกรถบรรทุกทับ โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จึงต้องตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและรับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ส่วนผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากโรคดังกล่าว แต่ร่างกายอาจมีทางนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบบ่อย คือ กลุ่มนักกีฬา หรือผู้มีภาวะเครียด กดดัน พักผ่อนน้อย ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจมีความผิดปกติ 
 
ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมาจึงควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป แม้แต่คนที่มีภาวะอ้วนตั้งแต่เด็กก็อาจเกิดอันตรายจากโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน ทั้งนี้อยากขอให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง