ย้อนความทรงจำกับสารคดีเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 27 : His Majesty's Blues
logo ข่าวอัพเดท

ย้อนความทรงจำกับสารคดีเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 27 : His Majesty's Blues

ข่าวอัพเดท : ใครจะรู้ว่า ท่วงทำนองจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ประทับใจอยู่ในใจของคนทั่วโลกนั้น จะมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากแซกโซโฟนมือสองในโลซานน์ ที่พระ สถิตฟ้าสถิตใจไทยนิรันดร์,สวิตเซอร์แลนด์,พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

6,332 ครั้ง
|
22 ต.ค. 2560
ใครจะรู้ว่า ท่วงทำนองจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ประทับใจอยู่ในใจของคนทั่วโลกนั้น จะมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากแซกโซโฟนมือสองในโลซานน์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงออกเงินหุ้นกับสมเด็จย่า เมื่อมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษา ที่สวิตเซอร์แลนด์ พื้นฐานทางดนตรีของพระองค์ได้เริ่มต้นขึ้น
 
ทรงเริ่มฝึกแซกโซโฟน ทรงเรียนรู้การเขียนโน้ตและสเกลต่างๆ ในแนวคลาสสิก กับครูสอนดนตรีชาวอัลซาส ทั้งยังทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง กับแผ่นเสียงของนักแซกโซโฟนแจ๊สในตำนานชาวอเมริกัน ซิดนีย์ บีเชต์ จนทรงเล่นสอดประสานกับแผ่นเสียงได้ไม่มีที่ติ
 
ไม่เพียงแต่แซกโซโฟน พรสวรรค์ด้านดนตรีของพระองค์ยังปรากฎในเครื่องดนตรีอีกหลายชนิด ได้แก่ คลาริเน็ต กีตาร์ และเปียโน จนอาจกล่าวได้ว่า ที่บ้านวิลล่าวัฒนา ทุกๆวัน ไม่เคยเงียบเหงาจากเสียงดนตรี
 
สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบิร์น ยังคงเก็บรักษาเรื่องราวแห่งเสียงเพลงแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้เป็นอย่างดี เปียโนไม้สีน้ำตาล อายุไม่ต่ำกว่า 90 ปีหลังนี้ ถูกขายต่อให้กับร้านเปียโนโลรองต์ แต่เจ้าของร้านเปียโนตัดสินใจนำมามอบให้สถานเอกอัครราชทูตไทยเก็บรักษาไว้ เมื่อเขาได้พบหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันได้ว่าเป็นเปียโนหลังเดียวกันกับที่เคยขับขานในครอบครัวมหิดล
 
เมื่อเปิดฝาครอบเปียโน จะพบข้อความภาษาฝรั่งเศสว่า "เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยามประเทศ ตั้งแต่เมษายน พ.ศ.2477 - กรกฎาคม พ.ศ.2478"
 
จากโน้ตตัวแรกที่โลซานน์ สู่บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ขับขานไปทั่วโลก พระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระองค์ทั้งด้านการบรรเลงและการประพันธ์ ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด จนทั่วโลกต่างขนานนามพระองค์ว่า "พระมหากษัตริย์นักดนตรี"
 
ร่วมย้อนความทรงจำกับสารคดีเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนที่ 27 : His Majesty's Blues ได้จากวิดีโอด้านล่างนี้