พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชปรารภว่า ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำแม่น้ำในหลายตำบล ตั้งอยู่โดดเดี่ยวยังไม่มีทางหลวงเชื่อมต่อจังหวัด แม้ว่าจะมีการคมนาคมติดต่อกับจังหวัดทางน้ำได้ก็ห่างไกลโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาก ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลแผนโบราณ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในโรคหลายอย่าง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือยนต์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาพยาบาลประชาชนตามลำน้ำต่างๆ โดยพระราชทานชื่อว่า "เวชพาหน์" (อ่านว่า เวด-ชะ-พา) และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานเรือ ในวันที่ 19 มกราคม 2498 เวลา 12.00 น. ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเรือและพระราชทานให้แล้วก็ออกปฎิบัติงานทันที ที่จังหวัดนนทบุรี
เรือเวชพาหน์เป็นเรือไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 3.81 เมตร ยาว 15.69 เมตร สูง 3.75 เมตร กินน้ำลึก 0.85 เมตร เครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า 6 สูบ 200 แรงม้า บรรทุกพนักงานเรือและผู้โดยสารได้รวม 30 คน ความเร็ว 12 น็อต/ชั่วโมง
กองบรรเทาทุกข์และอนามัย (ชื่อเรียกขณะนั้น) ได้นำเรือพระราชทาน "เวชพาหน์" ออกปฎิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนผู้อาศัยอยู่ตามฝั่งแม่น้ำตามพระราชประสงค์ตลอดมา ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2498 ปีละหนึ่งหรือหลายครั้ง ระยะนานบ้างสั้นบ้าง และงดเป็นบางปี เนื่องจากบุคลากรจำกัด และมีภารกิจบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยฉุกเฉินต่างๆ ที่เร่งด่วน
สำหรับการปฎิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในระยะแรก การให้บริการตรวจรักษา ผ่าตัดเล็ก ทันตกรรม ทำแผล ฉีดยา จัดยา จ่ายยาผู้ป่วย จลอดจนการกินอยู่หลับนอนของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดล้วนกระทำในเรือทั้งสิ้น ต่อมามีผู้มารับบริการมากขึ้น และเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น เช่น สุขศึกษา ห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นต้น จึงย้ายการรักษาขึ้นมาบนบก โดยอาศัยศาลาวัด ท่าน้ำ และโรงเรียน ส่วนการจัดยา จ่ายยานั้ยังคงปฏิบัติที่เรือเหมือนเดิมเพื่อให้ ผู้รับบริการได้รับรู้และซี้งในพระมหากรุณาธิคุณจากข้อความบนแผ่นป้ายซึ่งติดไว้ที่ด้านข้างของเรือทั้งสองด้านว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเรือลำนี้ เมื่อ พ.ศ. 2498 " เพื่อใช้บรรเทาทุกข์และรักษาประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น"
เรือพระราชทานเวชพาหน์ ปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ 2498 ที่จังหวัดนนทบุรี และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-29 พฤศจิกายน 2550 ที่จังหวัดอ่างทอง โดยปฏิบัติงานรวมทั้งสิ้น 137 ครั้งใน 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงครามนครปฐม และอุทัยธานี มีผู้มารับบริการตรวจรักษาโรค ฝังเข็ม ให้ภูมิคุ้มกันโรค และบริการทางทันตกรรม รวมทั้งสิ้น 317,984 ราย
ในปัจจุบัแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลอำเภอ และสถานีอนามัยทั่งถึงแล้วก็ตาม แต่ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ยังคงนำเรือพระราชทานออกให้บริการประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำในจังหวัดที่สามารถไปได้ในยามสงบปีละ 1 ครั้ง หรือในยามเกิดอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่ทรงมีต่อพสกนิกรตลอดมา
และเมื่อ วันที่ 4 ต.ค.60 นางวารุณี ไพศาลธนวัฒน์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี นายไพรัตน์ ลิ่มสกุล นายอำเภอสามโคก นายเอนก สมบุญ นายกเทศบาลตำบลสามโคก พร้อมเหล่าสภากาชาดปทุมธานี ร่วมมอบตู้ยาจำนวน3ตู้และถุงยังชีพสภากาชาดไทยจำนวน 100 ถุงแก่ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส พร้อมเปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เรือพระราชทานเวชพาหน์ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่วัดสะแก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
สภากาชาดไทย น้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และยังคงใช้เรือพระราชทานเวชพาหน์ ในการบรรเทาทุกข์และรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ทั้งด้านการตรวจรักษาโรคทั่วไป การฝังเข็มประยุกต์ การตรวจรักษาด้านทันตกรรม การให้ความรู้ด้านสุขศึกษา และการป้องกันโรคต่าง ๆ นับแต่ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2498 ถึงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 151 ครั้ง ใน 19 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม อุทัยธานี และสมุทรปราการ
ตลอดระยะเวลา 62 ปี ของเรือพระราชทาน เวชพาหน์ มีประชาชนมารับบริการไปแล้ว 346,090 คน และจะออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เรือพระราชทานเวชพาหน์ บริการประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำลำคลองในเขตจังหวัดปทุมธานี โดยปฏิบัติงานร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานราชการ
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์