โลกออนไลน์ได้ชื่นชมภาพประวัติศาสตร์แห่งพระราชพิธีอีกครั้ง เมื่อหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่ภาพยนตร์เงียบการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2468 ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป ซึ่งภาพยนตร์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 7 ประจำปี 2560 ด้วยคุณค่า ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ สังคม และศิลปะ ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย 4 ตุลาคม 2560
โดยภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นผลงานการบันทึกโดย "กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง" หรือการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ได้บันทึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 6 ไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน โดยเริ่มจาก
1. ภาพวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2468 เวลา 17.28 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ราชกิจจานุเบกษาบรรยายพิธีไว้ว่า
"เวลานั้นโหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ พิณพาทย์ดนตรี ทรงสาวเชือกรอกยกนพปฏลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศขึ้นที่พร้อมบริบูรณ์"
2. ภาพบรรพชิตจีนประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลกงเต๊กหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง อนึ่ง รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการเกี่ยวกับงานกงเต๊กของพระองค์เองไว้ว่า
"ในการทำบุญ ๗ วัน เมื่อไว้พระศพก็ดี และในงานพระเมรุก็ดี ขอให้จัดทำพิธีกงเต๊ก ถ้าไม่มีใครศรัทธาทำให้ข้าพเจ้า ขอให้ทายาทของข้าพเจ้าหาพรตอานัมนิกาย จีนนิกาย มาทำให้ข้าพเจ้า"
3. ภาพวันที่ 24 มีนาคม 2468 เวลาเช้า เป็นการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นเกรินบันไดนาค จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ เจ้าพนักงานเลื่อนเกรินขึ้นเทียบพระมหาพิชัยราชรถ และพระยาวงศาภรณ์ภูษิตเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ ณ พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก่อนจะแห่ริ้วกระบวนสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าถวายสักการะพระบรมศพ ซึ่งพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 6 ในเรื่องนี้มีว่า
"ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางระยะสุดท้ายนี้อย่างทหาร"
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงการใช้รถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพตามพระบรมราชโองการว่า "ไม่มีธรรมเนียม" จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระมหาพิชัยราชรถแทนราชรถปืนใหญ่ และไปใช้เกรินประดิษฐานล้อเกวียนปืนใหญ่เชิญพระโกศพระบรมศพในช่วงเวียนพระบรมโกศรอบพระเมรุมาศสามรอบแทน
4. ภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประทับพระราชยาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งประทับพระวอสีวิกากาญจน์ พร้อมกระบวนราบมายังบริเวณพระราชพิธี
5. ภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ พระที่นั่งทรงธรรม ในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง พร้อมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และคณะอัครราชทูต ทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาท และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินขึ้นพระเมรุมาศ
6. ภาพวันที่ 24 มีนาคม 2468 เวลาประมาณ 18.30 น. บรรดาข้าราชการ คณะอัครราชทูต ทูตานุทูต และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ขึ้นสู่พระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิง
7. ภาพวันที่ 25 มีนาคม 2468 เวลาประมาณ 07.30 น. หลังถวายพระเพลิงเรียบร้อย และรัชกาลที่ 7 สรงพระบรมอัฐิแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการที่เป็นราชสกุลและราชินิกุลเดินสามหาบ 3 สำรับ 9 หาบเวียนโดยอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ
8. ภาพการอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากพระเมรุมาศไปยังพระที่นั่งทรงธรรม และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นสู่พระที่นั่งราเชนทรยาน ตั้งกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพื่อแห่อัญเชิญจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในเวลา 09.05 น. วันที่ 25 มีนาคม 2468
อนึ่ง ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิหนังไทย ระบุว่า "กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว" ซึ่งเป็นผู้บันทึกภาพยนตร์ดังกล่าว ก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ที่มีอุปกรณ์และบุคลากรพร้อมแห่งเดียวของสยามในขณะนั้น มีอุปกรณ์สำคัญต่างๆ ที่สั่งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา
กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ประเภทข่าวสารของรัฐบาล เพื่อเผยแพร่กิจการต่างๆ ของรัฐ เป็นเครื่องมือทำประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาล และเป็นเครื่องมือให้ความรู้และอบรมราษฎรในเรื่องต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ นอกจากนี้ยังดำเนินกิจการในลักษณะธุรกิจ รับจ้างถ่ายทำภาพยนตร์ต่าง ๆ แก่เอกชนทั่วไป กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 มีการจัดตั้งกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ทำให้กิจการของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวถดถอยลงและในที่สุดก็ถูกยุบไป
(*หมายเหตุ : วันที่ในรายงานชิ้นนี้ นับปี พ.ศ. แบบเก่าโดยอาศัยวันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่ หากนับแบบปัจจุบันจะเป็น พ.ศ.2469)
ขอบคุณภาพ วิดีโอ และข้อมูลจาก :
- หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) https://www.youtube.com/watch?v=ccwuphWlor8
- ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 43 หน้า 209-233 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/D/209.PDF
- วชิราวุธวิทยาลัย https://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_08.htm