สำนักข่าว The Sun รายงานข่าวประเทศเคนยากลายเป็นประเทศล่าสุดที่ออกกฎหมายห้ามใช้ , ผลิตหรือนำเข้าถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนอาจต้องเผชิญกับบทลงโทษรุนแรง ปรับเงินต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 6.3 แสนบาท และสูงสุดถึง 1.2 ล้านบาท หรือจำคุกนาน 4 ปี โดยยกเว้นเพียงแค่ผู้ผลิตถุงพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากความพยายามในการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของรัฐบาล
ขณะที่ผู้ประกอบการแสดงความกังวลว่า คำสั่งดังกล่าวอาจจะส่งผลให้สินค้ามีต้นทุนสูงขึ้นและเกิดการว่างงาน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็แสดงความมั่นใจว่ากฎหมายนี้จะยิ่งเป็นการเพิ่มงาน เพื่อผลิตถุงจากวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตในเคนยามีการใช้ถุงพลาสติกมากกว่า 100 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเป็นต้นตอความเสียหายของสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของมวลชน รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง พาหะของโรคไข้มาเลเลียและไข้เลือดออกอีกด้วย
ปัจจุบันมีถุงพลาสติกจำนวนมหาศาลกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในหาสมุทรในทุกๆ ปี ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี 2050 พลาสติกที่ถูกทิ้งจะมีจำนวนมากกว่าฝูงปลาในมหาสมุทร
สำหรับข้อห้ามดังกล่าวที่ออกมาคล้ายกับหลายประเทศในแอฟริกา อาทิ แคเมอรูน , สาธารณรัฐกินีบิสเซา , มาลี , แทนซาเนีย , ยูกันดา , เอธิโอเปีย , มอริเตเนีย และมาลาวี