อีสาน-กลางตอนบนยังอ่วม! น้ำท่วมพื้นที่เกษตรนับหมื่นไร่ พิจิตรชาวบ้านโอดน้ำท่วมเข้าเดือนที่ 4 แล้ว
logo ข่าวอัพเดท

อีสาน-กลางตอนบนยังอ่วม! น้ำท่วมพื้นที่เกษตรนับหมื่นไร่ พิจิตรชาวบ้านโอดน้ำท่วมเข้าเดือนที่ 4 แล้ว

ข่าวอัพเดท : ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำชีล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมถนนเชื่อมอำเภอไปยังหมู่บ้านตามแนวลุ่มแม่น้ พิจิตร,นครสวรรค์,ร้อยเอ็ด,ยโสธร,น้ำท่วม

3,482 ครั้ง
|
08 ส.ค. 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานจากอำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำชีล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมถนนเชื่อมอำเภอไปยังหมู่บ้านตามแนวลุ่มแม่น้ำชี ในเขตอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวังของจังหวัดยโสธร โดยทีมข่าวต้องใช้รถทหารซึ่งมีความสูงเพื่อตรวจสถานการณ์น้ำจากบ้านโนนธาตุ หมู่ที่ 6 และ 10 ตำบลฟ้าหยาด ไปบ้านเปือยน้อย บ้านป่าตอง อำเภอมหาชนะชัย เชื่อมบ้านกุดน้ำใส บ้านแจนแลน ตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ถนนถูกน้ำท่วมสูง 50-80 เซนติเมตร เป็นช่วง ช่วงละ 1 กิโลเมตร รถเล็กผ่านไม่ได้มา 2 วัน 
 
นอกจากนี้น้ำที่ล้นตลิ่งยังไหลเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาสองฝั่งถนน ข้าวนาปีกว่า 10,000 ไร่ถูกน้ำหลากท่วมลึกกว่า 4 เมตร ไร่ปลูกมันสำปะหลังหลายร้อยไร่ก็ถูกน้ำท่วมขังกว่า 1 เมตร ทำให้ลำต้นมันสำปะหลังเริ่มสิ่งกลิ่นเน่าเหม็นคลุ้ง
 
อนึ่ง อำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวังเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังระดับน้ำชีเอ่อท่วมสูง โดยนางสาวมารีสา ศรีลาพัฒน์ นายอำเภอมหาชนะชัย นำกระสอบพร้อมงบซื้อทรายมามอบให้ชาวบ้านธาตุน้อย หมู่ที่ 6 ,10 ตำบลฟ้าหยาด ก่อนที่ชาวบ้านจะช่วยกันวางเรียงกระสอบทรายทำเป็นทำนบป้องกันน้ำชีไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน ส่วนการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาระยะยาว ทางอำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวังได้ให้เจ้าหน้าที่ปลัดป้องกันและเกษตรอำเภอเร่งสำรวจครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมข้าวนาปีและพืชสวนเพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชปลูกทดแทนหลังน้ำลด พร้อมกับจัดหางบประมาณมาจ่ายค่าชดเชยนาข้าว พืชสวนที่เสียหายโดยสิ้นเชิงให้กับประชาชนโดยเร็ว
 
ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ คันดินกั้นน้ำของชาวนาในพื้นที่ตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ พังลงยาวกว่า 3 เมตร หลังถูกน้ำหลากกัดเซาะ เป็นเหตุให้มีน้ำไหลเข้าท่วมขังนาข้าวได้รับผลกระทบรวมหลายร้อยไร่ ขณะที่นายชุมพล พวงพิณ ชาวนาในพื้นที่บอกว่า น้ำที่ท่วมขังนาข้าวในพื้นที่ทางด้านเหนือไหลกัดเซาะคันดินพังลง ทำให้น้ำหลากเข้าท่วมขังนาข้าวที่กำลังออกรวงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมวลน้ำก้อนนี้ไม่สามารถระบายออกไปไหนได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อีกทั้งไม่สามารถเกี่ยวข้าวหนีน้ำได้เลย เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินกว่าที่รถเกี่ยวข้าวจะลงได้ และตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำการซ่อมแซมคันดินได้เช่นกัน เพราะกระแสน้ำยังค่อนข้างไหลแรง คาดว่าไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ต้นข้าวที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้จะเสียหายทั้งหมด ซึ่งตนก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก 
 
ด้านจังหวัดร้อยเอ็ด นายวัลลภ จินดาเงิน นายอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขังประมาณครึ่งอำเภอ คือ ต.เชียงขวัญ ต.พลับพลา ต.พระธาตุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับลำน้ำชี รวมแล้ว 11 หมู่บ้าน และขณะนี้ระดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้อีกหลายหมู่บ้านที่อาจได้รับผลกระทบด้วย ระดับน้ำเฉลี่ยประมาณ 40-50 ซ.ม. ประชาชนเดือดร้อนประมาณ 1,200 คน พื้นที่การเกษตรเสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน ขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง พร้อมจัดสถานที่พักพิงชั่วคราวบนพื้นที่ปลอดภัย จัดทีมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม ทั้ง กำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันท่วงที
 
ทั้งนี้สาเหตุมาจากมวลน้ำจำนวนมากจากเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาวที่ระบายลงจำนวนมาก ไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำชี ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และไหลเข้าท่วมพื้นที่หลายอำเภอของร้อยเอ็ดรวมถึง อ.เชียงขวัญ ด้วย
 
ด้านนายธงชัย มลิพันธ์ หัวหน้าฝ่ายช่างกลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีกลาง เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้น้ำชีจะยังเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องจากเขื่อนลำปาว จึงขอความร่วมมือรถบรรทุกทุกชนิดที่วิ่งผ่าพนังกั้นน้ำในเขตอำเภอจังหาร และอำเภอเชียงขวัญ โดยเฉพาะรถบรรทุกสิ่งของมาแจกซึ่งมีจำนวนมากและหนักมากในขณะนี้ ให้ระมัดระวังอย่าวิ่งเร็ว เกรงว่าพนังจะทรุดและพังขาด น้ำชีจำนวนมหึมาจะไหลบ่าเข้าถล่มตัวเมืองร้อยเอ็ดจมน้ำหนักกว่าสกลนคร
 
ปิดท้ายที่สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่บ้านปากคลอง หมู่ที่ 11 ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดกับแม่น้ำยม น้ำยังคงท่วมขังบ้านเรือนประชานประมาณ 20 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องใช้เรือในการสัญจร เนื่องจากเส้นทางในหมู่บ้านไม่สามารถใช้งานได้ โดยมวลน้ำเกิดจากน้ำพื้นที่ตอนบนทั้งจากสุโขทัยและพิษณุโลกที่ไหลเข้าพื้นที่ น้ำจากสะสมที่ไหลจากพื้นที่ทุ่งจังหวัดกำแพงเพชร ไหลสะสมลงมาในพื้นที่ส่งผลให้แม่น้ำยมเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วม หมู่ที่ 11 บ้านปากคลองโดยเริ่มท่วมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงขณะนี้เข้าสู่เดือนที่สี่ที่น้ำยังคงท่วมขัง 
 
นางสงวน บุญแย้ม อายุ 75 ปี กล่าวว่า น้ำท่วมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนหน้านี้ลดระดับลงไปครั้งหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ทันแห้งน้ำก็ท่วมซ้ำอีก คราวนี้มากกว่าเดิม ระดับน้ำตอนนี้ท่วมสูงกว่าศีรษะ ทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนเช่นปกติแตกต่างตรงที่ต้องใช้เรือในการเดินทางออกจากบ้านมาถนนที่รอดจากน้ำท่วม 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง