ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนม ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่แถบลุ่มน้ำสงครามและลำน้ำอูนยังคงวิกฤติ หลังมวลน้ำจากพื้นที่ จ.สกลนคร ได้ทะลักไหลระบายลงมาตามลำน้ำอูน ก่อนมาสมทบกับลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ทำให้ระดับน้ำสงครามมีความสูงประมาณ 12 เมตร เกินความจุประมาณ 2 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสงครามเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านที่ติดกับลำน้ำสงคราม แม่น้ำสาขาสายหลักที่เชื่อมไปยังน้ำโขง ในพื้นที่บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม จำนวนเกือบ 100 หลังคาเรือน
จากการตรวจสอบต่อมา พบว่ามีบ้านเรือนของชาวบ้านเกือบ 500 หลังคาเรือนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำสงครามเอ่อท่วม หากมีฝนตกลงมาซ้ำอีกในช่วงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ติดกับลำน้ำสงคราม ตั้งอยู่ในลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้ในช่วงนี้ชาวบ้านต่างเตรียมพร้อม เฝ้าระวัง เก็บสิ่งของขึ้นที่สูง จัดเตรียมเรือไว้สัญจร รวมถึงได้เร่งอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงการเกษตร วัว ควาย ไปเลี้ยงไว้ในพื้นที่สูง เพราะเกรงว่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และมีการเก็บสต็อกหญ้าอาหารสัตว์ไว้สำรองป้องกันขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์หากเกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน
ด้านการแก้ไขปัญหา จังหวัดนครพนมได้ร่วมกับกองทัพเรือ, หน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขงนครพนม และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสริมเรือผลักดันน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรืออีกจำนวน 12 ลำ เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำลำน้ำอูนในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม และสถานีเรือบ้านแพงนำเรือตรวจการมาเพิ่มอีก 2 ลำที่สะพานข้ามแม่น้ำสงคราม บริเวณบ้านหาดแพง เพื่อให้มวลน้ำเพิ่มการระบายลงสู่น้ำโขงเร็วที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้มีการติดตั้งเรือผลักดันน้ำบริเวณสะพานลำน้ำสงครามในเขตเทศบาลตำบลศรีสงครามจำนวน 35 ลำ และมีการเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถผลักดันน้ำได้วันละประมาณ 3 – 4 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทางเจ้าหน้าที่มั่นใจว่า หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีกในระยะเวลาประมาณ 10 วัน จะทำให้สถานการณ์ลำน้ำสงครามและลำน้ำอูนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะเขื่อนน้ำอูนในพื้นที่ จ.สกลนคร ที่เป็นต้นน้ำยังมีปริมาณน้ำประมาณ 120 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงเกินความจุ โดยจากความจุประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรปัจจุบันมีน้ำมากว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี สถานการณ์น้ำท่วมยังวิกฤติ โดยน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลบากลงมาจากพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธร ยังมีระดับที่สูง ประกอบกับน้ำในแม่น้ำมูลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังมีระดับสูงเช่นกัน โดยวันนี้ตรวจวัดปริมาณแม่น้ำมูลที่สถานี เอ็ม 7 สะพานกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อยู่ที่ 7 เมตร 80 เซนติเมตร สูงกว่าระดับเตือนภัย อยู่ที่ 80 เซนติเมตร จึงส่งผลให้แม่มูลเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ไร่นาของเกษตรกรในหลายอำเภอ และน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ และ เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งในระยะนี้เจ้าหน้าที่จากทุกส่วนราชการกำลังเร่งอพยพประชาชน พร้อมทรัพย์สิน สิ่งของเครื่องในออกจากตัวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ ขึ้นมาพักพิงอาศัยอยู่ตามจุดอพยพในแต่ละแห่งที่ทางหน่วยงานภาครัฐจัดเตรียมไว้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี คาดว่า ระยะเวลาจะยาวนานกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจุดรับมวลน้ำชีและแม่น้ำมูลทั้งหมดเพื่อรอการระบายออกสู่แม่น้ำโขง ในเขตอำเภอโขงเจียม แต่ปัญหาเกิดจากระดับแม่น้ำโขงหนุนสูง ซึ่งวันนี้ตรวจวัดระดับแม่น้ำโขง ที่สถานีบ้านด่านใหม่ อำเภอโขงเจียม มีปริมาณต่างกันกับแม่น้ำมูลอยู่ที่ 12 เมตร 42 เซนติเมตร และไหลผ่านเข้าไปในประเทศลาว และไหลลงทะเลตามลำดับต่อไป
+ อ่านเพิ่มเติม