กระทรวงสาธารณสุข ชี้ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ รวมถึงมีสารเสพติดและอันตรายเหมือนบุหรี่ทั่วไป ที่สำคัญยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชน พร้อมเผยผลสำรวจการบริโภคยาสูบล่าสุด พบเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงร้อยละ 1.9
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าก็มีสารพิษต่างๆ โดยเฉพาะสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติทั่วไป ซึ่งมีอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกัน ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อสูดเข้าสู่ปอดแล้ว ไม่ใช่มีเพียงไอน้ำกับสารนิโคตินเท่านั้น แต่ยังมีสารเคมีอีกมากมายที่ใช้ในขบวนการผลิตและปรงุแต่งกลิ่นรส และสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งมีสารก่อมะเร็ง
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี
ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่าเยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบัน จึงออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เรื่อง กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี ปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์สุเทพ กล่าวอีกว่า ประเทศไทย ได้ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมยาสูบของประเทศ และเสริมพลังความเข้มแข็งให้กับมาตรการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันใช้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สอง พ.ศ.2559?2562 โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยล่าสุด ปี 2559 พบว่าประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9 ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงานปี 2560-2564 นี้ ความชุกของการสูบบุหรี่ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 16 หรือไม่เกิน 8.8 ล้านคน เพื่อให้อัตราการบริโภคยาสูบภาพรวมของประเทศไทยมีสถิติลดลงอย่างต่อเนื่อง
+ อ่านเพิ่มเติม