กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากซึ่งเกิดขึ้นจากฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องว่า ปัจจุบันมี 4 จังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา / พิจิตร / อุบลราชธานีและร้อยเอ็ด รวม 14 อำเภอ 82 ตำบล 349 หมู่บ้าน โดยเฉพาะ 2 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุ "เซินกา" ในวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ส่วนเมื่อเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (26 กรกฎาคม) 2560 พายุดีเปรสชั่น “เซินกา” (SONCA) ที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 55 กม./ชม. ได้เคลื่อนเข้าพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร สร้างความเสียหายทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก รถยนต์ได้รับความเสียหายมากกว่า 3 คัน จากการถูกต้นไม้ใหญ่ล้มทับ รวมทั้งเกิดไฟฟ้าดับในทุกอำเภอ
ที่จังหวัดนครสวรรค์ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้เริ่มมีน้ำหลากล้นคลองข้ามถนนหมู่บ้านในพื้นที่ ตำบลสายลำโพง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ สูง 10-15 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาวยาวกว่า 50 เมตร ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่าแม้ระดับน้ำจะยังไม่สูงมากและยังไม่มีผลกระทบกับการเดินทาง แต่ก็พบว่าน้ำที่ไหลข้ามถนนสูงขึ้นอย่างช้าๆ คาดว่าระดับที่หลากข้ามถนนจะเพิ่มสูงกว่านี้อีก เนื่องจากปริมาณน้ำพื้นที่ทางด้านเหนือยังคงมีมาก
ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด อิทธิพลพายุเซินกาทำให้เกิดฝนตกหนักมากทั้งกลางวันกลางคืนมาหลายวัน เกิดอากาศหนาวเย็นและลมกระโชกแรง โดยเฉพาะในตัวเมืองร้อยเอ็ด ถนนทุกสายรวมทั้งซอยต่างๆ มีระดับน้ำสูง 30-50 ซม. เนื่องจากระบบระบายน้ำเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดระบายน้ำลงลำห้วยเหนือไม่ทัน ทำให้ประชาชนออกไปทำธุระนอกบ้านไม่ได้ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการต้องลุยฝนไปเรียนหนังสือและทำงานอย่างทุลักทุเล บรรดาพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดต่างๆของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ไม่มีลูกค้าบ่นอุบขาดทุนไปตามๆกัน
ขณะที่ จ.ขอนแก่น เมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักตลอกคืนในเขตอำเภอเมือง ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังตามถนนสายต่างๆ หลายสาย และชาวบ้านเดือดร้อนจากการเดินทางสัญจรไปมาในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นเวลาเร่งด่วนที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ส่วนเด็กนักเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือ
โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลตำบลศิลา อ.เมืองขอนแก่น น้ำเข้าท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้านหนองไผ่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องลุยน้ำออกจากหมู่บ้านเพื่อเข้าไปยังตัวเมือง ซึ่งชาวบ้านหนองไผ่บอกว่าสาเหตุของน้ำท่วมเกิดจากการสร้างทางลอดทางรถไฟ ซึ่งมีการถมท่อระบายน้ำอันเดิมซึ่งเป็นท่อขนาดใหญ่ของทางหมู่บ้านทิ้งเพื่อถมที่บริเวณริมทางลอดรถไฟ โดยไม่มีการสร้างท่อระบายน้ำทดแทน ตนจึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
ส่วนจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเช้ามืดที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอพิมาย ส่งผลให้เช้านี้มีน้ำท่วมขังในบริเวณตลาดพิมายเมืองใหม่ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร รถยนต์ และประชาชนที่ไปจับจ่ายซื้อของได้รับความลำบาก พ่อค้าแม่ค้าหลายรายต้องยืนแช่น้ำขายของ ซึ่งสาเหตุเนื่องจากท่อไม่สามารถน้ำระบายน้ำได้ทัน
และที่ จ.มหาสารคาม มีฝนตกตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โดยเฉพาะถนนสายบรบือ-มหาสารคาม น้ำได้ท่วมขังผิวการจราจรฝั่งขาเข้าอำเภอบรบือ รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำกรวยมาปิดกั้นเส้นทางและเปิดเลนคู่ขนานให้รถวิ่งสวนทางกันระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร อีกทั้งตามถนนเส้นดังกล่าวมีท่อประปาขนาดใหญ่สำหรับวางท่อ ลอยมากีดขวางถนน เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายท่อออกไปเพื่อเปิดการจราจรแล้ว และเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกลงไปในร่องน้ำช่วงบ้านหนองหญ้าปล้องเกือบทั้งคัน สาเหตุจากมีน้ำท่วมผิวการจราจรและคนขับรถไม่ชินเส้นทาง
ด้านสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท ออกหนังสือชี้แจงสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 6 ถึงผู้ว่าจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ว่ากรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 12 พร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไว้รองรับน้ำหลากระลอกใหม่จากอิทธิพลพายุเซินกา ตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผันน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าแม่น้ำลำคลองต่างๆ ซึ่งหากจะระบายน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นจะไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาค่อยๆสูงขึ้น 20-60 เซนติเมตร แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างในเขตจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา จากจุดเดิมที่เคยแจ้งเตือนก่อนหน้านี้แล้วแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม