สำนักข่าว mirror นำเสนอเบื้องหลังการประหารชีวิตนักโทษญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความลึกลับและพิธีกรรมอันสลับซับซ้อน ท่ามกลางเสียงโต้แย้งของนักมนุษยชนที่มองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมองข้ามสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของนักโทษ
ย้อนไปในปี 2010 ทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปเก็บภาพในเรือนจำโตเกียว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ชาวโลกได้เห็นห้องประหารนักโทษของญี่ปุ่น ห้องสี่เหลี่ยมที่มองเผินๆ แทบไม่ต่างจากห้องของโรงแรมแต่กลับดูลึกลับอย่างน่าประหลาดใจ ถูกปูด้วยพรมหนา , พื้นซีดาร์ และเปิดไฟด้วยแสงอ่อนๆ กลางห้องมีเส้นสีแดงถูกตีไว้เป็นสัญลักษณ์ให้นักโทษยืนขณะมีห่วงรอบคอ
ภายใต้พื้นถูกติดตั้งกลไกซึ่งจะทำงานเมื่อเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คนกดปุ่มที่อยู่ข้างห้องพร้อมกัน แต่จะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กดปุ่มสังหารเพื่อลดความตึงเครียด คล้ายคลึงกับวิธีประหารด้วยการยิงเป้าที่จะมีกระสุนหลอกรวมอยู่ด้วย
Charles Lane ได้อธิบายขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นในห้องประหารอย่างละเอียดว่า เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสปุ่มที่ถูกติดไว้บนผนังห้อง ประตูกลที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของนักโทษก็จะเปิดออก ทำให้ร่างร่วงหล่นสู่ช่องสี่เหลี่ยมแคบๆ และยังดึงรั้งเชือกให้กระชับกับลำคอ หยุดการเคลื่อนไหวในไม่กี่อึดใจ ก่อนที่ร่างไร้วิญญาณจะถูกนำไปไว้อีกห้องหนึ่ง รอจนกว่าแพทย์จะมายืนยันว่านักโทษเสียชีวิตแล้ว จึงจะคลายเชือกและย้ายศพไปใส่เอาไว้ในโลง
โดยระหว่างที่ดำเนินการประหารจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในห้องกระจก และบางครั้งก็ยังมีพนักงานอัยการมาร่วมเป็นพยานด้วย ซึ่งภายหลังเสร็จพิธีพวกเขาอาจจะต้องเดินผ่านพื้นที่ถูกโรยด้วยเกลือ เพราะถือเป็นพิธีการบริสุทธิ์ตามความเชื่อ
มาซาคัทซึ นิชิคาวะ
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มาซาคัทซึ นิชิคาวะ นักโทษประหารชีวิตวัย 61 ปี ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมหญิงสาว 4 รายเมื่อ 25 ปีก่อน ตื่นขึ้นมาในห้องขังของเรือนจำโอซาก้าเพื่อพบกับวันสุดท้ายของชีวิต เช่นเดียวกับ โคอิชิ ซูไมดะ ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมจากเรือนจำฮิโรชิมา ที่ได้รับการประหารชีวิตในวันเดียวกัน พวกเขามีเวลาเพียงกินอาหารมื้อสุดท้าย ไม่มีโอกาสได้กล่าวคำอาลากับครอบครัวที่อยู่ภายนอก โดยจะได้เห็นรูปปั้นของพระโพธิสัตว์ เทพธิดาแห่งความเมตตาของศาสนาพุทธ เป็นใบหน้าสุดท้าย ก่อนจะถูกพาตัวไปยังห้องประหารที่กำลังรอคอยอยู่ไม่ไกลในสภาพที่ถูกปิดตา
ฮิโรกะ โชจิ นักวิจัยเอเชียตะวันออกขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า โทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษที่โหดร้ายป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรมที่สุด โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่การประหารยังคงเต็มไปด้วยความลึกลับ จนรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ามันเป็นด้านที่ผิดพลาดของประวัติศาสตร์ ในขณะที่ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตเนื่องจากคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
จากรายงานของแอมเนสตี้ฯ ที่ถูกเผยแพร่เมื่อปี 2008 ระบุว่า นักโทษได้รับบาดเจ็บระหว่างถูกคุมขังจากการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมและน่าละอาย สอดคล้องกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ที่ได้ออกมาโจมตีการดำเนินการของเรือนจำญี่ปุ่นที่สร้างความเครียดกับทั้งตัวผู้ต้องขังและญาติ
นับตั้งแต่ปี 2010 ญี่ปุ่นทำการประหารนักโทษไปแล้ว 28 คน และยังมีนักโทษประหารถูกคุมขังอยู่อีก 122 คน โดยนักโทษทั้งหมดจะถูกแยกขังเดี่ยวโดยได้รับอนุญาตให้ออกกำลังกายเพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาในการรอคอยชะตากรรมประมาณ 5 ปี แต่ก็มีนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่หลายทศวรรษกว่าความตายจะเดินทางมาถึงในที่สุด
สำหรับประเทศญี่ปุ่นโทษประหารชีวิตยังคงได้รับการสนับสนุนจากพลเมืองและไม่มีตัวเลือกรองลงมาอย่างการจำคุกตลอดชีวิต ทำให้ผู้พิพากษาต้องเผชิญหน้ากับความกดดันในการตัดสินโทษจำเลยผู้กระทำความผิดทางอาชญากรรม โดยเฉพาะในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญที่สุดท้ายจะได้รับการลงทัณฑ์ให้รับโทษประหารชีวิต