อีกแล้ว ! ทะเลพัทยาน้ำสีดำขยะเกลื่อน ผู้ประกอบการร้องรายได้หด วอนแก้ไขกระทบภาพลักษณ์ระยะยาว
logo ข่าวอัพเดท

อีกแล้ว ! ทะเลพัทยาน้ำสีดำขยะเกลื่อน ผู้ประกอบการร้องรายได้หด วอนแก้ไขกระทบภาพลักษณ์ระยะยาว

14,713 ครั้ง
|
13 ก.ค. 2560
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพชายหาดและหน้าอ่าวบริเวณพัทยาใต้ ด้านหลังสถานีสูบน้ำในโครงการระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ใกล้ปากทางเข้าโครงการวอล์คกิ้งสตรีท ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบว่าตลอดแนวชายหาดในระยะความยาวกว่า 300 เมตรนั้นทรายมีสภาพดำสกปรก จากเศษขยะ สิ่งปฏิกูล และน้ำเน่าเสียลักษณะขุ่นดำเป็นตะกอนที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างกินพื้นที่กว่า 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวต่อเมืองพัทยาเป็นอย่างมาก ด้วยช่วงบริเวณนี้ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อน 
 
     ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชายหาดทั้งกลุ่มร่มเตียงชายหาด กลุ่มหมอนวดชายหาด รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าต่างได้รับผลกระทบตามๆกันไป เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ มาใช้บริการหายไป จากผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
 
     รายงานข่าวรายงานด้วยว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในทะเลพัทยาและทะเลจอมเทียนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะหลังช่วงเวลาที่เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก เนื่องจากจะมีการปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลเหล่าออกมาทางท่อระบายน้ำที่ต่อทิ้งลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งกรณีนี้ที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้เคยออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องของระบบท่อระบายน้ำรวมของเมืองพัทยาตลอดแนวชายหาด ซึ่งจะรับน้ำเสียจากที่พักอาศัยและสถานประกอบการเพื่อรวบรวมเข้าสู่ระบบบำบัด แต่ก็เป็นระบบท่อระบายเดียวกันที่ใช้ในการรองรับน้ำฝนด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดพายุฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้น้ำฝนผสมกับน้ำเสียค้างท่อก่อนจะเอ่อล้นออกมาและไหลตามระบบระบายลงสู่ทะเล 
 
     พร้อมกันนี้ยังระบุว่า น้ำที่ปล่อยทิ้งลงทะเลนี้ จะมีค่ามาตรฐานความเข้มข้นหรือ BOD ไม่เกินตามข้อกำหนดของกฎหมายจากนั้นน้ำจะเจือจางไปตามธรรมชาติ ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี ได้เคยนำเสนอรายงานผลการประเมินคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งภาคตะวันออกในที่ประชุม โดยระบุว่าในปีงบประมาณ 2558 กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง เขตภาคตะวันออก ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้ แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด รวม 60 จุด โดยทำการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและเก็บตัว อย่างน้ำทะเลเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย จากการประเมินค่าคะแนน MIWQI (Marine Water Quality Index) เฉลี่ยปี 2558 พบว่าคุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้นจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 25 จุด พบว่า พื้นที่แหลมฉบัง ตอนท้ายมีคุณภาพเสื่อมโทรมมาก โดยมีพื้นที่ของชายหาดพัทยากลางที่เข้าข่ายเสื่อมโทรม จึงควรดำเนินการจัดทำแผนเพื่อลด และกำจัดมลพิษ โดยเฉพาะกรณีของน้ำเสีย และขยะมูลฝอย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้น้ำทะเลอาจประสบปัญหาวิกฤตได้ในอนาคต
 
     อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งรวมถึงครั้งนี้น้ำทะเลมีลักษณะดำและมีสิ่งปฏิกูลไหลออกมาเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการระบุว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หลังเกิดเหตุก็ไม่มีการลงพื้นที่จัดการอย่างเบ็ดเสร็จ จะมีเพียงมีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บขยะในรุ่งเช้าเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง