การสูญเสียนิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารรวม 5 ราย จากเหตุตกบ่อบำบัดน้ำเสียในโรงงาน นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่าท่ามกลางความเศร้าเสียใจของเพื่อนและครอบครัว การสูญเสียในครั้งนี้ทำให้เราอาจต้องย้อนกลับมาทบทวน ถอดบทเรียนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกในอนาคต
(รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล) | ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผ่านการเป็นอาจารย์ นักเขียนและวิทยากรในวงการสิ่งแวดล้อมมายาวนาน เพื่อร่วมถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว รศ.ดร.พิสุทธิ์วิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์พลัดตกบ่อบำบัดน้ำเสียในครั้งนี้ที่พอจะเป็นไปได้ไว้ 3 แนวทาง "น่าจะเป็นไปได้ 3 สาเหตุ สาเหตุที่หนึ่งอาจจะมีการซ่อมบำรุงและเปิดบ่อทิ้งไว้ โดยไม่ได้มีสัญญาณอะไรบอก ข้อต่อมาคืออาจจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะปกติเวลาเราเข้าพื้นที่อันตรายในลักษณะนี้ก็คงต้องมีการแจ้งเรื่องความปลอดภัยอยู่แล้ว ก็อาจจะขาดการแจ้ง ส่วนข้อสาม ก็อาจจะมาจากผู้ที่เข้าไปในพื้นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์" รศ.ดร.พิสุทธิ์ระบุ |
นอกจากนี้ รศ.ดร.พิสุทธิ์ยังชี้ว่าบ่อบำบัดน้ำเสียในลักษณะนี้พบได้ในโรงงานส่วนใหญ่ที่มีน้ำเสียเกินกว่าจะปล่อยลงแหล่งน้ำหรือไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนการเปิดบ่อมักจะเกิดในช่วงเวลาซ่อมบำรุง 2 รูปแบบ คือซ่อมบำรุงเมื่ออุปกรณ์ทำงานผิดปกติหรือเสียหาย หรือเพื่อบำรุงรักษาตามระยะเวลา
"ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของน้ำเสียนะ ถ้าน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการ ถ้ามันผ่านมาตรฐานอยู่แล้วเขาก็ไม่ต้องมีบ่อบำบัด แต่ถ้าน้ำมีการนำมาใช้ประโยชน์แล้วคุณภาพมันแย่ลง ไม่สามารถปล่อยออกสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้หรือไม่ผ่านมาตรฐาน อันนี้เป็นไปตามกฎหมายเลยว่าต้องมี ส่วนอีกกรณีนึงก็คือนิคมอุตสาหกรรม ในนิคมจะตีขอบเขตใหญ่หน่อย สมมติในนิคมมี 50 โรงงาน โรงงานทั้งหมดก็อาจจะส่งน้ำไปที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่เดียวกันแล้วก็ปล่อยออกไป"
รศ.ดร.พิสุทธิ์ยังชี้ว่าความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของบ่อบำบัดคือการที่ฝาบ่อปิดสนิท ถ้าจะเปิดก็ต้องมีสัญลักษณ์แจ้งเอาไว้
"ตัวฝาบ่อใดๆ มันถูกปิดดีอยู่แล้วครับ อันนั้นเป็นความปลอดภัยหลักอยู่แล้ว ถ้าจะต้องมีการเปิดจะมีการทำสัญญาณแจ้งหรือกันไม่ให้คนเข้าไปอยู่แล้ว รวมไปถึงขณะที่มีการเปิดขึ้นมา เราก็จะรู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ข้างล่างบ่อจะเป็นพื้นที่อับอากาศ ดังนั้นด้วยความปลอดภัยจะต้องมีป้ายบอกถ้ามีการเปิดบ่อ"
นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือพื้นที่บ่อเป็นพื้นที่อับอากาศ ประกอบด้วยไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า มีปริมาณออกซิเจนต่ำ ดังนั้นหากตั้งใจจะลงไปต้องมีอุปกรณ์ช่วยหายใจเช่นหน้ากาก หรือออกซิเจน แต่ถ้าหากพลัดตกลงไป คนที่จะลงไปช่วยก็ต้องมีความรู้ด้วย
"จริงๆวิธีการช่วยไม่ใช่ลงไปช่วยกันโดยไม่มีเครื่องมือ เพราะถ้าลงไปช่วยโดยไม่มีเครื่องมือก็จะเจอปัญหาเดียวกับน้องคนแรกที่ตกลงไป เพราะน้องเขาตกลงไปเขาอาจจะไม่ได้บาดเจ็บอะไรเยอะ แต่พื้นที่ข้างล่างมันไม่มีออกซิเจน คือไม่มีอากาศหายใจนั่นเอง ดังนั้นถ้าวิธีการจะลงไปช่วยที่ใช้กันพื้นฐานก็คือใส่หน้ากาก หรือมีเครื่องที่ช่วยในการหายใจ และมีการผูกเชือก ก็คือสมมติผมลงไป คนที่อยู่ข้างบนต้องมีอีกสองคนที่ถือเชือกแล้วคอยดึงผมตลอด เป็นแนวปฏิบัติเลยนะครับแบบนี้"
เมื่อถามว่าบ้านเรือนทั่วๆไปมีโอกาสประสบปัญหาพลัดตกบ่อบำบัดแบบนี้หรือไม่ รศ.ดร.พิสุทธิ์ยืนยันว่าบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ่อบำบัดแบบฝังใต้ดินอยู่แล้ว
"ถ้าเป็นบ้านเรือนจะเป็นบ่อสำเร็จรูปขนาดเล็กครับ ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ เพราะสูงเมตรกว่าๆเท่านั้นเอง จะไม่ค่อยเจอปัญหาแบบนี้ ส่วนใหญ่ฝาบ่อจะปิดอยู่แล้วเพราะตัวบ่อบำบัดส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70-80 จะฝังอยู่ใต้ดินอยู่แล้วครับ"
แม้กรณีนี้ยังคงต้องรอความชัดเจนจากตำรวจว่าสาเหตุใดนิสิตคนแรกถึงตกลงไปในบ่อ ทั้งที่โดยปกติบ่อไม่ควรถูกเปิดไว้ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์นี้ก็น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยทั่วไป ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่ทำงานอยู่เสมอ ด้วยความหวังว่าจะไม่เกิดความสูญเสียขึ้นอีกในอนาคต
+ อ่านเพิ่มเติม