สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่เตรียมพร้อมกันน้ำท่วมอย่างหนัก หลังพบพื้นที่เสี่ยง 919 หมู่บ้าน 178 ตำบล
นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ในห้วงที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ และแหล่งเศรษฐกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่มีน้ำท่วมขังสูง ในจำนวน 25 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ มีตำบลที่เสี่ยงภัย จำนวน 178 ตำบล 919 หมู่บ้าน ซึ่งถือว่าอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งแนวทางการป้องกันเบื้องต้นก็ได้ประสานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ดินสไลด์ ดินโคลนถล่ม เพื่อแจ้งเตือนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ พร้อมกันนี้ก็ได้มีมิสเตอร์เตือนภัย จำนวน 5,989 คน ที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ คอยให้ความช่วยเหลือในการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบล่วงหน้า และมีสถานีเตือนภัยอีก 26 แห่ง เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมด้านอุทกภัย หากเกิดวิกฤติหนักก็จะสามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันด้วย
นายธนา กล่าวต่อว่า ได้ประสานทาง อปท. และอำเภอแต่ละแห่ง ให้มีการสำรวจแหล่งน้ำ เส้นทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำในพื้นที่ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรับน้ำ มีมีขยะหรือสิ่งปฏิกูลไปปิดทับถมเส้นทางระบายน้ำ เพื่อให้น้ำฝน
ทางด้านนายวรพจน์ คุณาวิวัฒนางกูร นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ภาคเหนือยังคงมีฝนฟ้าคะนอง หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศอินเดียด้านตะวันออกแล้ว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง อนึ่ง พายุโซนร้อน “เมอร์บก” (Merbok) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนเข้าประเทศจีนตอนใต้ใกล้เกาะฮ่องกงแล้ว คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อไป
ส่วนลักษณะอากาศของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน และแพร่ อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ในห้วงระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย. 60 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 17 - 18 มิ.ย. 60 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยทั่วไป ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพ และระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย