การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงลอนดอนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งระดับชาติทั้งที่อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ ซึ่งเกิดจากการประกาศยุบสภาของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลของการยุบสภาคือการขออาณัติใหม่จากประชาชนในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับเงื่อนไขของการถอนตัวออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป เนื่องจากยังมีความกังวลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์จากการถอนตัวดังกล่าว
คูหาเลือกตั้งทั่วสหราชอาณาจักรเปิดให้ลงคะแนนมาตั้งแต่เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 13.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย และจะปิดลงในเวลา 22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือ 04.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) ตามเวลาไทย ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 46.9 ล้านคนจะเดินทางไปลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกสมาชิกสภาส่วนกลางของรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์จำนวน 650 คน หรือออกเสียงทางไปรษณีย์ โดยอังกฤษมีพรรคการเมืองใหญ่สุด 2 พรรคได้แก่พรรคเลเบอร์ และพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ส่วนพรรคใหญ่อื่นๆ เช่นพรรคสก็อตทิชเนชันแนล และพรรคลิเบอรัล เดโมแครต เป็นต้น
2 พรรคที่ใหญ่ที่สุดอย่างคอนเซอร์เวทีฟและเลเบอร์มีนโยบายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พรรคคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษ์นิยม) ซึ่งเป็นพรรคขวากลางที่เป็นรัฐบาลถึง 7 ปี ชูนโยบายออกจากอียูอย่างเบ็ดเสร็จและจำกัดจำนวนผู้เข้าเมือง อย่างไรก็ตามพรรคนี้ถูกวิจารณ์ว่าตัดงบประกันสุขภาพและความมั่นคง และมักเอื้อประโยชน์ให้คนรวย
พรรคคอนเซอร์เวทีฟลงเลือกตั้งโดยมีนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศผู้คร่ำหวอดการเมือง แต่กลับเสียคะแนนโค้งสุดท้ายในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายเป็นแกนนำ
ส่วนพรรคแรงงาน มีนโยบายต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน ขึ้นภาษีคนรวย ทุ่มงบประกันสุขภาพ สร้างงาน และคงความเป็นตลาดร่วมกับอียู นำทัพโดย เจเรมี คอร์บิน ที่ย้ำว่าความยากจนหลีกเลี่ยงได้ หลายคนมองคอร์บินว่าติดดินและตรงไปตรงมา แต่กลับไม่มั่นใจประสบการณ์การเมืองและต่างประเทศของเขา
ทั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานเมื่อเวลาประมาณ 15.43 น. ว่านางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเดินทางไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนพร้อมสามีของเธอเรียบร้อยแล้วที่หน่วยเลือกตั้งในเมืองเบิร์กเชียร์ ส่วนนางนิโคลาร์ สเตอร์เจียน รัฐมนตรีอันดับหนึ่งของสกอตแลนด์ก็เดินทางไปใช้สิทธิ์ที่เมืองกลาสโกวแล้วเช่นกัน
ในคูหาเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามการถ่ายภาพ แต่มีกฎหมายที่ซับซ่อนเพื่อรักษาความลับในการลงคะแนน ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรจึงสั่งงดถ่ายภาพทุกชนิด รวมถึงงดการอภิปรายทางการเมืองในคูหาด้วย นอกจากนี้สื่อในสหราชอาณาจักรยังถูกสั่งห้ามการรายงานรายละเอียดการหาเสียงใดๆ หลังเปิดหีบเลือกตั้งแล้ว
+ อ่านเพิ่มเติม