สำนักข่าว reuters รายงานข่าวน่าสนใจ กรณีแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐของประเทศบราซิล ใช้หนังปลานิลรักษาคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟคลอก หลังนักวิจัยศึกษาพบว่าสามารถบรรเทาความเจ็บปวดและลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากหนังปลามีความชุ่มชื้นสูงและมีโปรตีนที่กระตุ้นการสมานแผลอีกด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Federal University of Ceara ระบุว่าหนังของปลานิลประกอบไปด้วยความชุ่มชื้น , คอลลาเจน และแรงต้านทานต่อโรคในระดับเทียบเท่าผิวหนังของมนุษย์ ทั้งยังช่วยในการสมานบาดแผลได้ดี ในขณะที่ปลานิลถูกเลี้ยงอย่างแพร่หลายในบราซิล และหนังปลาก็เป็นส่วนที่ถูกโยนทิ้งไปอย่างไร้ค่า ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงเลือกนำมาใช้
ขณะนี้การรักษาแผลไฟไหม้ด้วยหนังปลายังอยู่ในช่วงทำการทดลอง โดยที่ผ่านมาได้นำมารักษาคนไข้แผลไฟไหม้ระดับความรุนแรงขั้น 2และ 3 ไปแล้วจำนวน 56 ราย ซึ่งสามารถเร่งให้การรักษาเห็นผลเร็วขึ้นและยังลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดได้อีกด้วย โดย 1 ในคนไข้ยอมรับว่า การรักษาด้วยหนังปลาได้ผลดีกว่าผ้าพันแผลที่ต้องเปลี่ยนทุกสองวัน และยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 75% เมื่อเทียบกับยาทาบรรเทาอาการปวดแผลไฟไหม้
สำหรับหนังปลาที่จะนำมาใช้รักษาบาดแผลนั้น จะถูกนำไปฆ่าเชื้อและเก็บไว้อย่างมิดชิดในตู้แช่เย็น ซึ่งจะมีอายุใช้งานนานถึง 2 ปี ส่วนวิธีใช้ก็เพียงนำมาคลุมไว้บนบาดแผลโดยไม่ต้องทาครีมใดๆ หลังจากนั้นอีก 10 วัน แพทย์ก็จะแกะผ้าพันแผลออกและหนังปลาที่แห้งก็จะหลุดร่อนออกจากแผล
ทั้งนี้นักวิจัยหวังว่าการรักษาดังกล่าวจะสามารถพัฒนาต่อยอดออกไปในเชิงพาณิชย์และสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ในอนาคต