"กูเกิล" เผย เตรียมติดตามข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของผู้ใช้ในสหรัฐฯ
logo ข่าวอัพเดท

"กูเกิล" เผย เตรียมติดตามข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของผู้ใช้ในสหรัฐฯ

ข่าวอัพเดท : กูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกกำลังวางแผนที่จะสร้างบริการติดตามการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตนับพันล้านใบ เพื่อให้นักโฆษณาทร ยัครเครดิต,บัตรเดบิต,Google,สหรัฐอเมริกา,โฆษณา,ออนไลน์

5,953 ครั้ง
|
26 พ.ค. 2560
กูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกกำลังวางแผนที่จะสร้างบริการติดตามการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตนับพันล้านใบ เพื่อให้นักโฆษณาทราบว่าแคมเปญโฆษณาออนไลน์นั้น ทำให้คนไปซื้อสินค้าจริงนอกระบบออนไลน์ได้เพียงใด บริการนี้จะเก็บข้อมูลจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตกว่า 70% ในสหรัฐอเมริกา โดยมี "บริษัทผู้ร่วมมือ" ช่วยเก็บข้อมูลการใช้จ่ายเหล่านั้นมาให้กูเกิล
 
เดิมกูเกิลเองมีข้อมูลผู้ใช้ปริมาณมหาศาลอยู่แล้ว ซึ่งเก็บมาระหว่างการให้บริการต่างๆ อาทิ AdWords บริการโฆษณาออนไลน์ หรือ Google Analytics ที่จะคอยเก็บข้อมูลพฤติกรรมการท่องเว็บไซต์แต่ละเว็บ และ DoubleClick บริการนายหน้าพื้นที่โฆษณา ยิ่งไปกว่านั้น กูเกิลยังเก็บข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ของมือถือว่าเราไปที่ไหนมาด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตแล้ว ทั้งหมดนี้จะช่วยให้กูเกิลวิเคราะห์ได้เมื่อผู้ใช้งานอย่างเราๆ เห็นโฆษณา ตามด้วยการค้นหาสินค้าที่โฆษณา และไปซื้อสินค้านั้นจริงๆ
 
แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทั้งหลายในสหรัฐฯ ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลขึ้นมาทันที
 
นายมาร์ค โรเทนเบิร์ก ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์สารสนเทศด้านความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ (EPIC) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยอิสระเพื่อประโยชน์สาธารณะในสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล รวมทั้งสภาคองเกรสขอคำตอบจากกูเกิลให้ได้  ว่ากูเกิลและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ มีวิธีเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานอย่างไร และใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างไร
 
"สิ่งที่น่าสนใจจริงๆสำหรับผม คือการที่บริษัทต่างๆเริ่มมีการเก็บข้อมูลในเชิงรุกมากขึ้น และการเก็บข้อมูลเหล่านี้ยังดูกลายเป็นความลับ (ที่ผู้ใช้ไม่ค่อยทราบ) มากขึ้นด้วย" มาร์คระบุ
 
เรื่องนี้กูเกิลยืนยันว่า กูเกิลไม่ได้เข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของผู้ใช้งานแต่ละคนโดยตรง แต่จะได้รับข้อมูลจาก "บริษัทผู้ร่วมมือ" มาอีกทอดหนึ่ง ในขณะเดียวกันบริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้า ก็จะเห็นเพียงจำนวนของการซื้อสินค้าที่เกิดขึ้นจริงจากการโฆษณาออนไลน์ โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ใดๆ
 
นอกจากนี้ กูเกิลยังพัฒนาเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลแบบใหม่ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อน ที่จะช่วยให้ข้อมูลการใช้จ่ายที่ได้มาเหล่านี้เป็นส่วนตัว ปลอดภัย และไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งานทั้งในระบบของกูเกิลและในฝั่งผู้ผลิตสินค้า แต่กูเกิลไม่ยอมเปิดเผยว่าใครเป็น "บริษัทผู้ร่วมมือ" ในการเก็บข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตร และไม่เปิดเผยวิธีการในการเก็บข้อมูลเหล่านี้ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานก็ยังมีสิทธิ์ไม่อนุญาตให้กูเกิลนำข้อมูลส่วนตัวที่เก็บได้ไปใช้ในการเลือกแสดงโฆษณา และสามารถลบประวัติสถานที่ที่ตัวเองเดินทางไปในระบบกูเกิลได้ ด้วยการไปตั้งค่าบัญชีของตัวเองเพื่อปิดการทำงานเหล่านี้
 
องค์กร Big Brother Watch ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ด้านเสรีภาพพลเมืองและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในอังกฤษ ยังแนะนำให้ผู้ใช้จำกัดการให้ข้อมูลในระบบดิจิตอล เช่น อย่าทิ้งอีเมล์ไว้ในใบเสร็จดิจิตอลต่างๆ และหมั่นตรวจสอบข้อกำหนดการให้บริการอยู่เสมอ เป็นต้น
 
ขณะนี้บริการนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น คงต้องติดตามก้าวต่อไปว่ากูเกิลจะขยายบริการนี้ออกไปในอนาคตหรือไม่