เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบรายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สนช.เป็นผู้เสนอ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดย กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะบางประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆหลายแห่ง จะต้องทำการแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของสาขาแต่ละแห่งแยกออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่ที่สาขานั้นๆตั้งอยู่โดยตรง โดยไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรมีการจัดเก็บในรูปแบบที่มีหลายอัตรา โดยพิจารณากำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า กล่าวคือ พิจารณาว่าสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นในการนำเข้า ส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท และ
3.ภาษีลาภลอย ปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศและควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอของ สนช.ที่ให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 1% นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง คงต้องหารือร่วมกัน ส่วนการปฏิรูปภาษีนั้น ยืนยันว่า ประเทศขณะนี้ไม่ได้มีสัญญาณ หรือ ปัญหาทางการคลัง แต่ทุกอย่างที่ดำเนินการ เพราะต้องการวางแผนใช้จ่าย เพื่อลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เตรียมทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี ในปีงบประมาณ 2561 หรือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ถึง เดือนกันยายนปี61
ส่วนภาษีลาภลอย ที่จะจัดเก็บกับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เพราะอยู่ใกล้หรือได้รับอานิสงน์จากการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง / กระทรวงการคลังได้ดำเนินการศึกษาไว้แล้ว
เช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จะมีการออกมาตรการที่ชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้ โดยแนวทางจะไม่ใช่การให้เงินไปใช้ แต่จะช่วยเหลือผ่านการสร้างอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม โดยได้จัดสรรงบประมาณสำหรับใช้ในมาตราการนี้ในปีงบประมาณ 61 แล้ว