เพจดังตีข่าว เว็บตร.ภูธรภาค 6 หลุดข้อมูลปชช.เพียบ - ตร.ยันแค่ใช้ภายใน เก็บหลักฐานพบปชช.จริงทุกวัน
logo ข่าวอัพเดท

เพจดังตีข่าว เว็บตร.ภูธรภาค 6 หลุดข้อมูลปชช.เพียบ - ตร.ยันแค่ใช้ภายใน เก็บหลักฐานพบปชช.จริงทุกวัน

ข่าวอัพเดท : เพจเฟสบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เผยแพร่ข้อความที่อ้างถึงโพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวของผู้ใช้ที่ชื่อ Rackchart Wong-a ตำรวจ,ตำรวจภูธรภาค 6,ข้อมูลส่วนตัว,เว็บไซต์

5,728 ครั้ง
|
24 ส.ค. 2560
 
เพจเฟสบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เผยแพร่ข้อความที่อ้างถึงโพสต์บนเฟสบุ๊กส่วนตัวของผู้ใช้ที่ชื่อ Rackchart Wong-arthichart ที่อ้างว่า พบการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนให้ค้นหาได้อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูล บนเว็บไซต์ของกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6
 
ทั้งนี้ ข้อความบนเฟสบุ๊ก Rackchart Wong-arthichart เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีใจความว่า "เฮ้ย อันนี้ไม่โอเค ตำรวจภูธรภาค 6 (มีที่ไหนอีกหรือปล่าวไม่รู้แต่เจออันนี้) ทำแคมเปญชื่อ Stop Walk and Talk Police 6 ไปเดินคุยกับประชาชนในพื้นที่ ถ่ายรูป และขอข้อมูลทั้งชื่อที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ เอามาใส่ในฐานข้อมูลเว็ปไซต์อย่างสาธารณะ 
 
โดยในเว็ปไซต์ระบุว่าข้อมูลการตรวจเยี่ยมมีจำนวน 798,046 รายการ ใครๆก็สามารถเปิดเข้าไปดูข้อมูลนี้ได้ที่ ..." พร้อมทั้งให้ที่อยู่เว็บไซต์ดังกล่าวไว้ด้วย
 
ส่วนโพสต์ของเพจเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุต่อไปว่า จากการตรวจสอบ ณ เวลา 15:40 ของวันที่ 23 สิงหาคม 2560 (4 ชั่วโมงหลังจากการโพสต์) พบว่าหน้าดังกล่าวมีการควบคุมการเข้าถึง โดยต้องล็อกอินแล้ว โดยเมื่อเข้าชมหน้าเว็บที่ใช้ค้นหาข้อมูล จะมีข้อความปรากฏว่ายังไม่ได้ล็อกอิน และเปลี่ยนทางไปยังอีกหน้าเว็บหนึ่งที่ให้ล็อกอินก่อน ทั้งนี้ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านจะถูกส่งโดยไม่ได้เข้ารหัส
 
โดยในหน้าล็อกอินดังกล่าว มีข้อความระบุช่องทางติดต่อผู้ดูแลระบบ พ.ต.ท.ณัฏฐกิตติ์ พร้อมมูล กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งดูแล 9 จังหวัดประกอบด้วย กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี 
 
ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 โดยพ.ต.อ.สราวุธระบุว่า เว็บไซต์ดังกล่าวไม่ใช่เว็บสำหรับตรวจสอบข้อมูลสำหรับประชาชน แต่เอาไว้สำหรับการใช้งานของตำรวจเท่านั้น โดยมีแนวคิดว่าแต่เดิมตำรวจเมื่อออกไปตรวจพื้นที่ ก็มักจะเซ็นตู้แดงโดยไม่ยอมพบปะพูดคุยกับประชาชน ทางผู้บังคับบัญชาจึงอยากให้มีเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะมีหลักฐานคือการเซลฟี่กับชาวบ้าน และเว็บนี้ก็จัดทำขึ้นเพื่อให้มีอัพโหลดรูปเพื่อเป็นหลักฐานตรวจสอบได้ว่าตำรวจไปทำการตรวจจริง และมีการบันทึกข้อมูลอื่นๆเอาไว้
 
"เช่นตอนนี้อย่างโรงพักนครสวรรค์จะตั้งโจทย์เลยว่า วันนึงคุณจะต้องเจอชาวบ้านให้ได้ 10 คน ฉะนั้นเขาจะเดินไปหาเลย ลุงเป็นไง แล้วก็จะต้องเป็น 10 คน แล้วก็ตั้งโปรแกรมไว้ว่าห้ามซ้ำ"
 
ส่วนกรณีที่เว็บไม่มีการควบคุมการเข้าถึงใดๆ เลยนั้น พ.ต.อ.สราวุธยอมรับว่า ก่อนจะเกิดกระแสวิจารณ์ มีการตั้ง Username กับ Password ในกรณีที่จะแก้ไขข้อมูลเท่านั้น เพราะในตอนแรกตั้งสมมติฐานไว้ว่าจะไม่มีประชาชนเข้ามาใช้งาน และตำรวจภูธรภาค 6 ซึ่งจะเข้ามาดูข้อมูลตรงนี้ก็มีเยอะมาก เลยไม่ได้คิดว่าจะต้องใส่ Username และ Password สำหรับการเข้ามาหาข้อมูล ซึ่งประโยชน์ก็คือ เมื่อมีข้อมูลก็จะสามารถทำให้การสอบสวนคดีง่ายขึ้น 
 
"เราต้องการให้ตำรวจในทุกๆที่ สามารถดูข้อมูลของประชาชนได้ อย่างผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนภาค ผมก็จะไม่ได้มีส่วนในการกรอกข้อมูล แต่ผมสามารถใช้ข้อมูลได้ เช่น มีคดีฆ่าเกิดขึ้นที่หมู่ 3 นครไทย ผมสามารถไปหาได้เลยว่าหมู่ 3 นครไทยมีตำรวจเคยพบปะชาวบ้านกี่คน พอผมพบว่ามี 7 คนผมก็จะไปหาชาวบ้าน 7 คนที่ตำรวจเคยเจอ คุณป้าครับ ผมเป็นตำรวจสืบสวนครับ เนี่ยครับ กรณีการฆ่ากันสองวันก่อนคุณป้าเห็นไหม คนที่เขาเคยเจอตำรวจมาแล้วและเคยพูดคุยมาแล้วเนี่ย ผมก็จะพาตำรวจที่เคยพบปะเขาไปด้วย เพื่อให้ความเชื่อใจว่าผมนี่แหละตำรวจจริงๆ และผมมาตามข้อมูล มันเกิดการเชื่อมต่อกันแล้ว นี่คือประโยชน์ในการทำงาน" พ.ต.อ.สราวุธระบุ
 
เมื่อถามว่าเว็บไซต์นี้หลุดออกไปได้อย่างไร พ.ต.อ.สราวุธระบุว่าอาจจะมีตำรวจบางนายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะทำให้เป็นภาระของตำรวจมากขึ้น จึงเอามาปล่อย หรืออาจจะเกิดจากการพูดคุยกับชาวบ้าน แล้วชาวบ้านบางคนอาจจะรู้สึกว่าข้อมูลของฉันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เป็นการขโมยข้อมูล แต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างตำรวจกับชาวบ้าน
 
พ.ต.อ.สราวุธกล่าวต่อว่า ตำรวจระดับบริหารก็พอใจมากกับระบบนี้ เพราะไม่ถูกรุ่นน้องหลอกแล้วว่าตรวจจริงไม่จริง ส่วนตำรวจระดับปฏิบัติก็เกิดโปรแกรมการทำงานใหม่ว่าทุกเช้าต้องไปเจอชาวบ้านแล้วต้องถ่ายรูปมาให้ดูที่ห้องนี้ การำงานลักษณะนี้มีเฉพาะที่ตำรวจภูธรภาค 6 เท่านั้น และทำมาแล้ว 3 ปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
 
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พ.ต.อ.สราวุธระบุว่า เมื่อมีการเตือนมาเมื่อสองวันก่อนในเฟสบุ๊กหนึ่ง ว่าทำไมไม่มีการตรวจ Username Password ตนจึงสั่งแอดมินให้หาวิธีการป้องกัน ถ้าเข้าตอนนี้ก็จะพบว่ามี Username Password ป้องกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีการเข้ารหัส Username และ Password นั้นทางแอดมินก็มีแจ้งมาแล้วเช่นกัน
 
เมื่อถามว่าการปล่อยข้อมูลหลุดในกรณีนี้ถือเป็นโทษทางวินัยหรือไม่ พ.ต.อ.สราวุธระบุว่าไม่มีการลงโทษเนื่องจากไม่ใช่เรื่องของการปล่อยปละละเลย ไม่มีใครผิด แต่ได้กำชับเรื่องการรักษาความปลอดภัยไปแล้ว พร้อมย้ำว่าทุกคนที่มาทำระบบนี้ไม่ได้รับค่าจ้าง ตำรวจที่เขียนโปรแกรมนี้ก็ทำให้ฟรี เงินที่เอามาทำ server ก็เป็นเงินส่วนตัวไม่ได้ใช้งบประมาณเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง