แท็กซี่ ร้องขอคิดค่าโดยสาร กทม. เป็น  2 อัตรา โซนรถติด-ไม่ติด เชื่อแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร
logo ข่าวอัพเดท

แท็กซี่ ร้องขอคิดค่าโดยสาร กทม. เป็น 2 อัตรา โซนรถติด-ไม่ติด เชื่อแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร

ข่าวอัพเดท : แท็กซี่ ร้องขอเพิ่ม ค่าโดยสารกรุงเทพฯชั้นใน ระบุต้นทุนช่วงรถสูงกว่า เชื่อจะแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารได้ ด้าน พิชิต สั่งขนส่งศึกษาความเ แท็กซี่,รถติด,โซน,ค่าโดยสาร

8,200 ครั้ง
|
07 ส.ค. 2560

 
       "แท็กซี่" ร้องขอเพิ่ม ค่าโดยสารกรุงเทพฯชั้นใน ระบุต้นทุนช่วงรถสูงกว่า เชื่อจะแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสารได้ ด้าน พิชิต สั่งขนส่งศึกษาความเหมาะสม
 
       นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่าย สหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับนายพิชิต อัตราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รวมทั้งได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
 
        โดยเสนอให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสาร รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ใหม่ จากเดิมที่ใช้ ราคาเดียวทั่วกรุงเทพฯ ให้เปลี่ยนเป็น 2 อัตรา คือ ค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและ เขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก
 
         เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนมีปัญหาการจราจร ติดขัดแตกต่างกัน โดยรถที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพชั้นในจะมีปัญหารถติดมากและนานกว่า จึงมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งมากกว่ารถ ในเขตกรุงเทพชั้นนอก แต่ค่าโดยสารช่วงรถติดในปัจจุบันกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดคือนาทีละ 2 บาท จึงไม่สะท้อนต้นทุนค่าขนส่งที่แท้จริง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในเขตเมือง  เบื้องต้น นายพิชิตรับฟังข้อเสนอและรับปากจะนำกลับไปศึกษาความเหมาะสมต่อไป 
 
         "เราเสนอให้กรมขนส่งฯ คิดค่าโดยสารเป็น 2 โซน คือโซนที่รถติด กับโซนที่รถไม่ติด โดยในโซนที่รถติดจะต้องคิดค่าโดยสารในช่วงรถติดหรือจอดนิ่งในอัตราที่สูงกว่าโซนที่รถไม่ติด คือมากกว่านาทีละ 2 บาทที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น ก็จะอยู่ที่ 35 บาทเท่าเดิม แต่จะปรับเพิ่มเป็น นาทีละเท่าไหร่ ยังตอบไม่ได้ต้องไปศึกษารายละเอียดก่อน ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินการตามนี้ ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในพื้นที่ กรุงเทพชั้นในจะหมดไป ขณะที่คนขับแท็กซี่ ก็จะอยู่ได้"
 
          นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า นายพิชิตได้สั่งการ ให้ ขบ. กลับไปศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอดังกล่าวแล้วว่า มีผลดีผลเสียอย่างไร และมีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะขณะนี้ ขบ. ก็อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาการจัดทำโครงสร้างต้นทุนรถแท็กซี่โดยรวมจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เช่นกัน ซึ่งทีดีอาร์ไอจะนำผลการศึกษากลับมาเสนอให้ ขบ. ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้
 
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง