สรุปดราม่า เรียกคืนเบี้ยคนชรายายบวน 10 ปี 8.4 หมื่น สุดท้ายใครผิด?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

สรุปดราม่า เรียกคืนเบี้ยคนชรายายบวน 10 ปี 8.4 หมื่น สุดท้ายใครผิด?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลุกลามใหญ่โต สำหรับกรณีกรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินเบี้ยคนชราย้อนหลัง 10 ปี จำนวนกว่า 8.4 ห เรียกคืนเบี้ยคนชรา,ยายบวน,กรมบัญชีกลาง,เรียกคืนเงินเบี้ยคนชราย้อนหลัง 10 ปี,เงินบำนาญพิเศษ

757 ครั้ง
|
27 ม.ค. 2564
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลุกลามใหญ่โต สำหรับกรณีกรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินเบี้ยคนชราย้อนหลัง 10 ปี จำนวนกว่า 8.4 หมื่น จากคุณยายบวนวัย 89 ปี เนื่องจากคุณยายได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน จะต้องคืนเงินดังกล่าวทั้งหมด สร้างความเดือดร้อนแก่ยายบวนเป็นอย่างมาก
 
 
แน่นอนว่าสังคมต่างตั้งคำถามถึงกระบวนการทำงานของภาครัฐ ทำไมถึงปล่อยให้ผ่านมานานถึง 10 ปี แล้วเพิ่งจะมาเรียกเก็บคืนแบบนี้ รวมไปถึงว่าการที่ให้คุณยายต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวนั้น สมควรแล้วหรือไม่…
 
 
โดยเรื่องราวนี้เป็นของ นางบวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี พร้อมด้วย นางลัดดาวรรณ โล่ห์สุวรรณ อายุ 66 ปี ลูกสาว ชาวตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาขอความช่วยเหลือ หลังมีหนังสือทวงหนี้จากกรมบัญชีกลางทวงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเบี้ยคนชราย้อนหลัง 10 ปี เป็นเงิน 84,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย เพราะเป็นการจ่ายซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษที่ยายบวนได้รับเดือนละ 5,000 บาท เนื่องจาก จ.ส.อ.จักราวุทธ โล่ห์สุวรรณ ผู้เป็นลูกชาย ซึ่งเป็นทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่โคราชเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544
 
 
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจให้กับยายบวนเป็นอย่างมาก เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าหากได้รับเงินบำนาญพิเศษแล้วจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยคนชราอีก และได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 10 ปี แล้วเพิ่งจะมาทวงถาม ตอนนี้ไม่ทราบว่าจะหาเงินมาคืนจากไหน เนื่องจากฐานะที่บ้านก็ยากจน จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ
 
 
ต่อมา นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวชี้แจงว่า เนื่องจากหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เจริญสุข จ.บุรีรัมย์ เป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ นางบวน โล่สุวรรณ ตลอดมา
 
 
ส่วนประเด็นที่ว่าจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุให้ยายไปแล้ว 10 ปี ทำไมถึงเพิ่งมาเรียกเงินคืนย้อนหลัง เนื่องจากเมื่อก่อนไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบโดยตรงได้เพราะยังไม่มีการลิงก์ข้อมูลกัน แต่ตามระเบียบระบุไว้ชัดเจนว่าหากใครได้รับเงินบำนาญจะไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ถือเป็นการซ้ำซ้อน ยอมรับว่ากรณีนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งกรณีของยายบวนจะได้หาแนวทางแก้ไข แต่ตามระเบียบยังไงก็ต้องจ่ายคืนเพราะเป็นเงินหลวง แต่ตามระเบียบที่กำหนดไว้สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 5 ปี พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในระเบียบ คือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตามจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือคุณยายต่อไป
 
 
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 64 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ลงพื้นที่ไปพบคุณยายบวน เพื่อประชุมหารือแนวทางในการช่วยเหลือ ในเบื้องต้นเงินบำนาญพิเศษจากการเสียชีวิตของลูกชาย ที่คุณยายบวนได้รับเดือนละ 5,000 บาทนั้น ทางรัฐได้เพิ่มวงเงินบำนาญดังกล่าวให้อีก 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 แต่คุณยายไม่ทราบเพราะไม่ได้เช็กยอดเงิน ส่วนใหญ่จะให้ลูกหลานเป็นคนไปเบิกให้ ประกอบกับคุณยายยังมีเบี้ยคนพิการอีกเดือนละ 800 บาท
 
 
จากการพูดคุยของเจ้าหน้าที่จึงได้ข้อสรุปที่ว่า ให้คุณยายและครอบครัวสามารถผ่อนชำระได้ โดยตามระเบียบที่กำหนดไว้คือ หากผ่อนชำระภายใน 1 ปี จะไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าเกิน 1 ปี ตามระเบียบก็กำหนดไว้จะต้องคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
 
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้แนะนำให้คุณยายนำเงินบำนาญพิเศษที่ได้ทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท มาผ่อนชำระ หากจะผ่อนแบบไม่เสียดอก 1 ปี จะต้องผ่อนเฉลี่ยประมาณเดือนละ 7,030 บาท จำนวน 12 เดือนนั่นเอง ดังนั้นคุณยายจะเหลือเงินใช้จ่าย 2,970 บาท
 
 
ด้านนายทินกร วรนุช นายก อบต.เจริญสุข ระบุว่า หลังทราบเรื่องทาง อบต.ก็ไม่นิ่งนอนใจก็พยายามหาทางออกให้กับคุณยาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำตามระเบียบเพราะหากไม่ทำก็จะมีความผิดฐานละเว้น เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดิน แต่ยืนยันว่าจะหาแนวทางช่วยเหลือไม่ให้คุณยายต้องเดือดร้อน หรือได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิต
 
 
ล่าสุด เฟซบุ๊ก ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ที่มีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เป็นประธานได้มีความเคลื่อนไหวถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า "ชมรมประสาน ผกก.สภ.เฉลิมพระเกียรติ รับจ่ายหนี้ให้คุณยายแทนให้หน่วยงานกรมบัญชีกลางติดต่อมาได้เลย"
 
 
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่คุณยายบวนที่เจอเรื่องแบบนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 มีรายงานว่า นางมะลิ เณรแขก อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ หลังมีหนังสือขอเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 52 ถึงเดือนพ.ย. 62 ซึ่งจ่ายให้กับ นางชู เณรแขก ผู้เป็นมารดา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 102,800 บาท เนื่องจากมารดาของตนได้รับเงินบำนาญพิเศษ จากการเสียชีวิตของลูกชายซึ่งเป็นทหารอากาศและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อปี 2526
 
 
นางมะลิเล่าว่า เมื่อปี 62  มีหนังสือจากเทศบาลตำบลสรรคบุรี ทวงคืนเบี้ยคนชรากับคุณแม่ของตน ซึ่งขณะนั้นคุณแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งตนได้เซ็นยอมรับสภาพหนี้สินแทนแม่ไป โดยขอผ่อนชำระ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 102 เดือน ในจำนวนเงิน 102,800 บาท
 
 
ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 63 คุณแม่เสียชีวิตลง แต่ก็ยังมีหนังสือทวงหนี้ส่งมาให้คุณแม่ตลอด ตอนนี้รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก เพราะตนอาศัยอยู่กับแม่เพียง 2 คน ในบรรดาพี่น้อง ได้เสียชีวิต ไปเกือบหมดแล้ว หนี้สินก็มาตกอยู่ที่ตนคนเดียว ตนอยากจะวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยพิจารณาเรื่องการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่
 
 
โดยหลังจากงานศพคุณแม่ ตนจึงออกหางานทำในกรุงเทพ เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ แต่นายจ้างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้าน ตอนนี้ยังไม่มีงานทำ รายจ่ายบางเดือนไม่เพียงพอ ต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าเช่าบ้าน หากเรื่องของการเรียกคืนเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีการฟ้องร้อง ตนเองไม่คิดจะสู้คดี จะขอติดคุกแทน เพราะไม่มีเงินมาใช้หนี้อย่างแน่นอน
 
 
ด้านแง่มุมกฎหมายนั้น ก็มีทนายรวมถึงนักกฎหมายมากมาย ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีนี้ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน 
 
 
ดังนั้น เท่ากับว่า คุณยายบวนจะต้องคืนเพียงแค่เงินเบี้ยคนชราเท่าที่เหลืออยู่ คือเบี้ยคนชราที่ได้รับมาเหลือเท่าไหร่ก็คืนเท่านั้น หากไม่เหลือก็ไม่ต้องคืน ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
กรณีของคุณมะลิที่โดนเรียกเก็บคืนเบี้ยคนชราของคุณแม่จำนวน 102,800 บาท นั้น นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรีเปิดเผยว่า ส่วนกรณีลูกสาวจะต้องมารับภาระหนี้แทนแม่ที่เสียชีวิต ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บอกไว้ชัดเจน โดยลูกในฐานะผู้รับมรดก ไม่ต้องรับภาระหนี้ในเรื่องนี้ เนื่องจากทายาทไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน หรือหากผู้เสียชีวิตมีหนี้สิน และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องจ่ายหนี้สินนั้น
 
 
 
 
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/vQQbQ4fq4gc

ข่าวที่เกี่ยวข้อง